✈️ เร็วเกินไป

ทำไมเราไม่ค่อยตั้งคำถามกับคนที่ทำงานเร็ว (เกินไป) แต่เรามีปัญหามากมายกับคนที่ทำงานช้า?

หนึ่ง — เพราะคนทำงานเร็วจี๋นั้นหายาก นานๆจะโผล่มาให้เห็นสักคน เราจึงต้องซาบซึ้งในความสามารถเฉพาะตัวข้อนี้ของพวกเขาเอาไว้

สอง — เพราะคนทำงานเร็วนั้นมักได้ความเคารพเป็นพิเศษจากคนรอบข้างเพราะความหัวไวของพวกเค้า

สาม — เพราะคนทำงานเร็วนั้นดูเก่ง ฉลาด และเข้าสังคมเก่ง (อันนี้ผมคาดคะเนเอาล้วนๆ) แค่นี้ก็เหมือนมีเกราะป้องกันคำติติงจากคนภายนอกแล้ว

เรื่องของเรื่องก็คือ … เรานั่งทำข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์อยู่ ผ่านไปแค่ครึ่งชั่วโมงหลังอาจารย์แจกกระดาษข้อสอบ เพื่อนโต๊ะข้างหน้าเราลุกขึ้นแล้วหยิบกระดาษข้อสอบไปส่งอาจารย์ก่อนเดินออกจากห้องไปอย่างอกผายไหล่ผึ่ง

เพื่อนคนนี้คืออัจฉริยะที่จัดการข้อสอบที่ให้เวลาสามชั่วโมงได้เสร็จในเวลาสามสิบนาทีหรือเพื่อนคนนี้ตอบมั่วไปครึ่งนึงและส่งกระดาษเปล่าไปอีกครึ่งนึง?

ณ วินาทีนั้นไม่มีใครตอบได้ … จนกว่าผลสอบจะออกมา

เหมือนกับการทำงานในทีมเป๊ะๆ … เรามักไม่ค่อยตั้งข้อสงสัยกับคนที่ทำงานเร็วจนน่ากลัว ประมาณว่าเร็วกว่าชาวบ้านเค้า 2–3 เท่า งานคล้ายกันคนนึงใช้เวลาหนึ่งวันเทียบกับที่สามคนที่ใช้เวลาห้าวัน

นอกจากไม่มีข้อสงสัยกับคนทำเร็วไม่พอ … กลับตั้งมาตรฐานว่างานแบบนี้ต้องเสร็จในหนึ่งวันซะอีก … เอ๊ะมันยังไง?

ความเร็วระดับสายฟ้าฟาดแบบนั้นอาจจะนำมาซึ่งความผิดพลาดเนื่องจากความสะเพร่าของคนทำ (เหมือนเด็กๆที่แข่งกัน … ใครเสร็จก่อนชนะ — มีนะครับ เพื่อนร่วมงานแนวนี้) และ

ความเร็วระดับสายฟ้าฟาดแบบนั้นอาจจะนำมาซึ่งความผิดพลาดเนื่องจากความเข้าใจผิดในตัวงาน

จริงอยู่ที่อาจจะมีบางคนที่เก่งจริงและทำงานได้รวดเร็วและเรียบร้อย … แต่เราควรตั้งขอสงสัยไว้แต่แรกเลยว่า “คนแบบนี้มีหนึ่งในล้าน” (เวอร์ไปมั้ย? ฮ่าๆ)

ไม่ว่าจะทำเร็วแบบสายฟ้าฟาดหรือช้าแบบเต่าคลาน เราต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่มีมาตรฐานมารองรับไว้เสมอ

อย่าเพิ่งรีบยกยอ เชยชม และสนับสนุนคนทำงานเร็วจนออกนอกหน้าจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์อย่างมั่นใจแล้วว่างานนั้นออกมาทั้งดีและทั้งเร็ว

การทำงานเสร็จเร็วเป็นเรื่องดีครับแต่คุณภาพและความยั่งยืนก็สำคัญไม่แพ้กัน 🤣

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *