“ผมเป็นโปรดักท์ เมเนเจอร์ที่ไม่มีพื้นหลังด้านเทคนิคอะครับ ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าผมจะเป็นโปรดักท์ เมเนเจอร์ที่ดีได้มั้ย?” เป็นคำถาม เป็นข้อกังวลของคนที่ตัดสินใจเลือกทำงานในตำแหน่งนี้ … ผมคิดอย่างไรกับเรื่องนี้?
👑 โปรดักท์ เมเนเจอร์กับตำแหน่งซีอีโอในอนาคต
ผมมองอนาคตไกลๆของโปรดักท์ เมเนเจอร์ก่อนว่าเส้นทางสายอาชีพนี้มีเป้าหมายอย่างไร ส่วนตัวผมมองว่าคนที่เป็นโปรดักท์ เมเนเจอร์ควรจะสามารถพัฒนาตัวเองไปเป็นซีอีโอ Chief Executive Office (CEO) ได้ ผมเชื่อแบบนี้จริงๆ (ทุกท่านมีอนาคตที่สดใสมาก ฮ่าๆ) ดังนั้นถ้าเรามองย้อนกลับมาว่า จริงๆแล้วซีอีโอความรู้ด้านเทคนิคดีมากรึเปล่า? คำตอบคือไม่เสมอไป แน่นอนมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กนั่นใช่ แต่สำหรับสตีฟ จ๊อบส์ หละ? … อืม ก็ไม่เชิง
สิ่งหนึ่งที่ซีอีโอต้องพร้อมทำคือเขาต้องพร้อมในการทำหน้าที่ที่หลากหลาย พร้อมที่จะหยิบหมวกหลายสีมาใส่ในเวลาที่เหมาะสม … รูปข้างบนมาร์ก โกลเดนสันได้นำเสนอรายละเอียดของทักษะต่างที่ที่ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ควรจะมี แน่นอนมันไม่ใช่ทักษะทั้งหมด แต่อย่างน้อยมันเป็นจุดเริ่มต้นให้เรากลับมามองตัวเองได้ว่านอกจากเรื่องเทคนิคัล (Engineering) แล้ว มันมีอะไรที่เราสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้
🦸🏼♀️ พลังพิเศษเหนือธรรมชาติ
ซีอีโอไม่ใช่คนที่เก่งเฉพาะเรื่องเทคนิคัลและเมื่อมองกลับมาที่โปรดักท์ เมเนเจอร์คำตอบของผมก็แบบนี้แหละครับว่าพื้นหลังด้านเทคนิคไม่ใช่จุดชี้เป็นชี้ตายของโปรดักท์ เมเนเจอร์แต่มันคือสิ่งนี้
คุณโปรดักท์ เมเนเจอร์คุณตอบได้มั้ยว่าพลังพิเศษระดับเหนือมนุษย์ของคุณคืออะไร?
พลังพิเศษที่คนอื่นในทีมไม่มี เป็นพลังที่สามารถช่วยโลกได้ เช่น
- คุณเก่งมากเรื่องการจัดการโปรเจกต์ซึ่งคุณสามารถช่วยสร้างและพัฒนากระบวนการทำงานที่ดีให้กับทีม
- คุณศึกษาและเข้าใจเรื่องการทำสตาร์ทอัพอย่างถ่องแท้ คุณสามารถศึกษาและกำหนดปัญหาของลูกค้าและนำเสนอแนวทางแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- คุณมีความรู้และประสบการณ์เรื่องการออกแบบ (UX/UI) เป็นอย่างดี
- คุณมีแนวคิดการทำการตลาดที่แตกต่างแบบสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มเป้าหมายได้
- คุณเป็นนักวิเคราะห์ที่เก่ง เรื่องการอ่านและแปลความข้อมูลนี่ขอให้บอก
ถามตัวเองวันนี้ว่าคุณมีพลังพิเศษอะไรที่จะสร้างประโยชน์ให้กับทีม ค้นหาให้เจอและใช้มันบ่อยๆ นั่นคือการสร้างคุณค่าในตัวเองอีกรูปแบบหนึ่งโดยไม่ต้องพึ่งพาแค่เรื่อง ทางเทคนิค
คนที่เป็นโปรดักท์ เมเนเจอร์ให้มองอนาคตตัวเองว่าวันหนึ่งฉันจะเป็นซีอีโอคนที่รู้กว้างในทุกเรื่อง (Generalist) และรู้ลึกในบางเรื่อง (Specialist) … วันนี้คุณค้นหาพลังพิเศษของตัวเองเจอแล้วรึยัง?
⚙️ แล้วเรื่องความรู้ด้านเทคนิคหละ?
ไม่ต้องสนใจหรอ? ก็ไม่ใช่แบบนั้นครับ เพราะอย่างที่บอกไปว่าคุณต้องรู้และเข้าใจในทุกเรื่อง (Generalist) นั่นรวมถึงเรื่องเทคนิคัลด้วย อย่างที่ Valve (ผู้ผลิตเกมส์ Half-Life กับ Counter-Strike) บอกไว้ว่า “มันมีแต่ประโยชน์ที่คุณจะเรียนรู้เรื่องเทคนิคัลและการเขียนโค๊ด” ดังนั้นสิ่งที่โปรดักท์ เมเนเจอร์ควรจะทำในกรณีที่เรื่องเทคนิคัลไม่ใช่พลังพิเศษของเราก็คือ
อย่างน้อย เราต้องเป็นคนที่ “สนใจ” และมี “ความสงสัยและใฝ่รู้ในเรื่องเทคนิคัล”
ไม่ต้องถึงขนาดรู้วิธีการเขียนโค๊ด ออกแบบระบบหรือเป็นที่ปรึกษาให้ดีเวลลอปเปอร์หรอก แต่เราควรต้องรู้ว่าสิ่งต่างๆมันทำงานอย่างไร ผมกำลังพูดถึงเรื่องเวิร์คโฟล, และเทคโนโลยีเบื้องหลัง เราควรพยายามทำความกับมันให้ได้มากที่สุดครับ เพราะสุดท้ายแล้วเราก็หนีเรื่องนี้ไปไม่พ้น ยิ่งเรียนรู้มากมันจะยิ่งช่วยให้เราทำงานได้ดีมากขึ้น … ซึ่งมีแต่ข้อดีทั้งนั้น