✍🏼 โปรดักท์ เมเนเจอร์ต้องมีความรู้ด้านเทคนิค?

“หนูเป็นโปรดักท์ เมเนเจอร์ หนูต้องรู้เทคนิคัลด้วยหรอคะ?”


อีกหกเดือนหนูคนนี้กำลังจะเข้าพิธีวิวาห์ 👰🏻 หนูคนนี้อยากได้ชุดแต่งงานที่เรียบหรูมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หนูคนนี้พร้อมลงทุนตัดชุดใหม่ที่เหมาะกับตัวเองที่สุด

หนูคนนี้เดินเข้าร้านตัดเสื้อร้านแรก — สามหมื่นบาท (โอเค เกินงบมานิดหน่อย)

หนูคนนี้เดินเข้าร้านตัดเสื้อร้านที่สอง — หนึ่งหมื่นบาท (ห๊ะ ถูกไปมั้ย?)

หนูคนนี้เดินเข้าร้านตัดเสื้อร้านที่สาม — ห้าหมื่นบาท (โอ้ แพงไปเห็นๆเลย)

เพราะหนูคนนี้มีงบประมาณในใจ เพราะหนูคนนี้มีข้อมูลราคาเป็นตัวเปรียบเทียบ ดังนั้นหนูคนนี้จึงเลือกร้านแรก


ตัดกลับมาที่คำถามด้านบน เมื่อมองการตัดชุดแต่งงานกับการสร้างโปรดักท์แล้วมันมีบางเรื่องที่ให้บนเรียนที่ดีกับหนูคนนี้ได้ … หนูคนนี้ไม่ถูกหลอกเพราะความรู้และข้อมูลที่มีในมือเรื่องการตัดชุดแต่งงาน แต่กับเรื่องเหล่านี้หละ?

หนูคนนี้เดินไปคุยกับดีเวลลอปเปอร์คนแรก — ทำไม่ได้หรอกครับแบบนี้หนะ (เชื่อ)

หนูคนนี้เดินไปคุยกับดีเวลลอปเปอร์คนที่สอง — งานขนาดนี้ต้องสามเดือนอะ (เชื่อ)

หนูคนนี้เดินไปคุยกับเทสเตอร์คนแรก — เทสครบแล้วจริงๆ (เชื่อ)

หนูคนนี้เดินไปคุยกับโปรเจกต์ เมเนเจอร์ — โร๊ดแมปก็ตามนี้แหละ ลุยเลย (เชื่อ)

เพราะหนูคนนี้ไม่มีความรู้และข้อมูลเรื่องทางเทคนิคของงานและซอฟต์แวร์ที่กำลังทำอยู่เลย หนูคนนี้จึงทำอะไรมากไม่ได้นอกจาก “เชื่อ” ทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟังมา

คำถามสำคัญจึงกลับมาที่จุดเริ่มต้น หนูคนนี้เชื่อใจเดฟทีมได้หรือไม่?


มันมีอะไรเสียหายถ้าจะศึกษาหาความรู้เรื่องเทคนิคัลใส่ตัวไว้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานที่ทำ สถาปัตยกรรม, การเชื่อมต่อ, ภาษาที่ใช้, ตรรกะทางธุรกิจ, ข้อจำกัดทางเทคนิค, เวิร์คโฟลและการทำงานโดยทั่วไปของซอฟต์แวร์, และอื่นๆ

มันมีอะไรเสียหายถ้าหนูคนนี้จะมองการสร้างโปรดักท์ให้เหมือนการตัดชุดแต่งงาน

การมีความรู้และมีข้อมูลในมือทำให้หนูคนนี้ไม่ถูกหลอกแบบไม่รู้ตัว (บางครั้งรู้นะว่าใครกำลังโกหกแค่ไม่อยากพูดสวนกลับไปแค่นั้นเอง)

การมีความรู้และมีข้อมูลในมือทำให้หนูคนนี้เพิ่มคุณค่าในตัวเองขึ้นอีกทวีคูณด้วยมุมมองของคนนอกที่มีเทคนิคัลแบ็คกราวน์

“หนูเป็นโปรดักท์ เมเนเจอร์ หนูต้องรู้เทคนิคัลด้วยหรอคะ?” — จำเป็นค่ะ คุณหนู


ป.ล. เราแทนที่คำว่า “โปรดักท์ เมเนเจอร์” ด้วย “โปรเจกต์ เมเนเจอร์” บทความนี้ก็ยังถูกต้อง 100%

ป.ล. เมื่อผมได้มีโอกาสทำงานในตำแหน่งโปรเจกต์ เมเนเจอร์อย่างเป็นทางการครั้งแรก หัวหน้าผมในตอนนั้นขอให้ผมเขียนแผนพัฒนาตัวเองขึ้นมา “ผมต้องทำอะไรบ้างในช่วงแรกเพื่อจะมั่นใจได้ว่าผมจะบริหารจัดการโครงการที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด”

หนึ่งในกิจกรรมที่ผมใส่ลงไปในแผนงานชิ้นนั้นคือ

  • เข้าเทรนโปรดักท์ตัวนี้
  • ขอเอกสารทางเทคนิคบางฉบับมาศึกษา
  • ติดตั้งโปรดักท์ตัวนี้เพื่อทดสอบและทดลองใช้งาน

เพราะผมไม่อยากโดนหลอกและผมอยากช่วยเหลือทีมงานให้ได้มากที่สุด ผมจึงต้องรู้เทคนิคัลดีในระดับหนึ่งครับ 💻

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *