ถ้านี่คือวงจรที่พบเห็นกันจนชินตา
- “เดี๋ยวช่วยคิดแผนพัฒนาสินค้าตัวนี้มาให้หน่อยนะ” — คำสั่งการที่เกิดขึ้นเพราะอยากได้ไอเดีย
- “นี่ค่ะ” — เราใช้เวลาสองสัปดาห์รวบรวมข้อมูล คิดพิจารณาอย่างดี สร้างวิสัยทัศน์ที่มั่นใจว่าดีต่ออนาคตของสินค้าและบริษัท … เราอินและมั่นใจกับแผนนี้มาก
- “ไม่ดี ผมไม่คิดแบบนี้นะ ผมว่ามันต้องแบบนี้ๆๆๆๆๆ” — แผนถูกปฎิเสธ อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดแต่ครึ่งนึงของความคิดเราหายไป ถูกทดแทนด้วยความคิดของคนที่มีอำนาจมากกว่า ทั้งที่พยายามทำความเข้าใจกับความคิดของเขา … แต่เราก็รู้อยู่แก่ใจว่านี่มันผิด เขาเข้าไม่ถึงความเป็นไปของสินค้าตัวนี้และเหมือนเขาไม่อยากรับฟังสักเท่าไร
ผ่านไปหกเดือน … ทั้งๆที่ของเดิมยังไม่ได้ถูกดำเนินการอะไรเลย ก็ได้เวลาวางแผนครั้งใหม่ตามวาระ
- “ว่าไง รอบนี้มีอะไรมาเสนอ?” — คนเดิม ความต้องการเดิมๆ
- “นี่ค่ะ” — เรายังยืนกรานแผนเดิมที่คิดไว้เมื่อครึ่งปีที่แล้ว เพราะเรามั่นใจว่ามันเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เราตั้งใจของสู้กับความคิดของเขาอีกครั้ง
- “ไม่ๆ ทำแบบนี้ดีกว่า ตรงนี้ตัดออก ตรงนี้เพิ่มเข้ามา ตรงนั้นทำก่อน ตรงนู้นเก็บไว้ทีหลัง” — ผลลัพธ์เหมือนเดิม อะไรก็ไม่รู้ รอบนี้ที่คิดมาหายเกลี้ยง กลายเป็นความคิดเขา 100%
เราไม่เห็นด้วย เราไม่เข้าใจเหตุผลของเขา เราไม่อยากทำตามนี้ แต่เราจะทำอะไรได้ละ? เมื่อหลักการในการตัดสินใจไม่เป็นที่กระจ่างทั้งสองฝ่าย เมื่อความคิดถูกลดคุณค่าลงเพราะตำแหน่งหน้าที่ … เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าเราทำอะไรไม่ได้แล้วนอกจาก “ปล่อยมันไป”
นี่เป็นการทำงานแบบ “ตามน้ำ” ใครว่าอะไรว่าไปตามนั้น ไม่เถียง ไม่เตือน ไม่พูด และไม่แคร์ … มันแผนของเขา ความคิดของเขา เราแค่มีหน้าที่ทำตามนั้นไปวันๆ ย้ำว่าไปวันๆ
วันนี้เราอยู่ในสภาวะ “ช่างแม่ง” รึเปล่า?
วันนี้เราทำให้คนอื่นตกอยู่ในสภาวะ “ช่างแม่ง” บ้างมั้ย?
“ช่างแม่ง”คือที่มาของการขาดความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในงาน มันเป็นต้นเหตุของผลงานที่ตกต่ำ ความรู้สึกที่ไร้คุณค่า ตามมาด้วยความเบื่อหน่ายที่จะทำงานต่อไป และมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน