👼🏽 จุดกำเนิดฟีเจอร์

การสร้างซอฟต์แวร์คือการคาดเดา เดาว่าสิ่งที่เราใส่ลงไปในงานนั้นจะตรงใจและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้หรือไม่ … ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ไม่มีใครมั่นใจได้ 100% ว่ามันจะฮิต แต่ทุกอย่างก็ไม่ใช่เรื่องของโชคดวงแต่มันมีศาสตร์และศิลป์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

กับเวอร์ชั่นแรกที่เรายังไม่มีข้อมูลเรื่องลูกค้า เรื่องผู้ใช้มากนัก เราควรเตรียมการและใช้กระบวนการแบบไหนในการเลือกทำและไม่ทำอะไร …​

มันแทบเป็นไปไม่ได้แล้วในยุคสมัยนี้ที่เรากำลังจะทำซอฟต์แวร์แบบนี้เป็นครั้งแรกและคนแรกของโลก และมันแทบเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกันที่เราจะหาข้อมูล (บนอินเตอร์เน็ต) เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ประเภทนี้ไม่ได้เลย หน้าที่แรกของเราคือการค้นหา

  1. ค้นหาว่าปัญหาที่คนทั่วไปเจอคืออะไร
  2. ค้นหาว่าแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นมีอะไรบ้าง
  3. ค้นหาว่าคนอื่น (คู่แข่ง) ทำอะไรบ้างและกำลังจะทำอะไรต่อไป

ปัญหาที่พบเจอได้ทั่วไปในเรื่องนี้ ปัญหาที่ไม่ใช่เฉพาะเจาะจงกับใครคนใดคนหนึ่ง เช่น อยากสร้างเมืองอัจฉริยะเราต้องแก้ปัญหาการคมนาคมและการจราจรที่ส่งผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แก้ปัญหาหลังคารั่วของทาวน์เฮ้าส์หลังนี้

แนวทางการแก้ไขมีให้เลือกเยอะมาก อย่าเลือกอะไรที่มันตกยุค มองหาอะไรที่ดีกว่าทันสมัยมากกว่า มองหาอะไรที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้หลายเท่า มองหาอะไรที่ลดต้นทุนได้ครึ่งหนึ่ง มองหาอะไรที่จะเป็นอนาคตไปอีกหลายๆปี เช่น ตอนนี้ทำงานแมนน่วลมากต้องจดข้อมูลใส่กระดาษ แนวทางการแก้ไขคือไม่ใช้กระดาษแต่ไปใช้ไมโครซอฟต์ เอ็กเซลล์แทน ไม่ๆ เก่ามากๆ คิดอะไรให้ใหญ่กว่านี้อีกห้าเท่าเป็นอย่างน้อย

คนอื่นหรือคู่แข่ง อย่ามองแค่ตลาดในประเทศ เราต้องเล็งเป้าไปที่ระดับโลก ลองดูซิว่าซอฟต์แวร์ระดับโลกทำอะไรได้บ้าง บริษัทระดับโลกเขาแก้ปัญหานี้อย่างไร นำเสนออะไร และที่สำคัญที่สุด …​ เขาไม่ได้นำเสนออะไรบ้าง เช่น บริษัทนี้ใหญ่โตฐานลูกค้ามากมาย ขายดิบขายดีด้วยฟีเจอร์แบบนี้แต่เขายังไม่ได้เริ่มต้นทำระบบวอยซ์คอมมานด์เลย …​ น่าสนใจ

เมื่อเราทำการบ้านตรงนี้สักพัก (ไม่นานหรอก บางครั้งแค่ 2 ชั่วโมงก็เห็นภาพแล้ว) เราจะเริ่มได้ข้อมูลตั้งต้นที่จะเดินไปสู่ขั้นตอนที่สอง

ในขั้นตอนที่สองเราก็จะเริ่มต้นกลับมามองตัวเอง เริ่มวิเคราะห์ด้วยสมอง ด้วยใจ ด้วยอารมณ์ของตัวเองเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ เพื่อสร้างแผนการ เพื่อตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้และแข่งขันได้

เราต้องพยายามมองหาอะไรที่คนอื่นมองไม่เห็น (ยากหน่อยนะ) เราต้องพยายามสร้างแนวทางที่เป็นของตัวเอง แน่นอนว่ามันจะไม่ใช่อะไรที่ใหม่เอี่ยมแบบที่โลกนี้ไม่เคยเห็นมาก่อนแต่มันต้องไม่ใช่การก๊อปปี้แบบไร้กลยุทธ์

“เธอมีอะไรฉันขอมีบ้าง” — แบบนี้ไร้อนาคต

“ฉันต้องทำในสิ่งที่เธอไม่มีให้ได้เร็วที่สุด” — นี่คือสิ่งที่เราควรระลึกไว้เสมอ

ถึงจุดนี้เราจะเริ่มเห็นโครงสร้างของซอฟต์แวร์ในใจรางๆแล้ว ลองมองกลับไปสิว่าที่เราเลือกแต่ละข้อนั้นมันวิ่งกลับไปแก้ปัญหาที่สำคัญของผู้ใช้ได้จริงๆรึเปล่า

ถึงจังหวะที่เราต้องเลือกแล้ว เลือกสิ่งที่ควรทำตามเป้าหมายที่เรากำหนดเอง การจะทำแบบนั้นได้เราต้องคาดเดาอนาคตไว้บ้าง ในอนาคตฉันจะสามารถหยิบซอฟต์แวร์ตัวนี้มาต่อยอดในอุตสาหกรรมอื่นได้มั้ย ฟีเจอร์แบบไหนที่เล็กที่สุดที่จะช่วยให้ฉันไปถึงจุดนั้นได้เร็วที่สุด

เรากำลังจัดลำดับความสำคัญของฟีเจอร์อยู่และการจะทำแบบนั้นได้ดีเราต้องเข้าใจปัจจุบันและเราต้องมีเป้าหมายสำหรับอนาคต

ฟีเจอร์ที่ดีไม่เคยมาจากการคาดเดาแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ฟีเจอร์ที่ดีไม่เคยเป็นการก๊อปปี้คนอื่นแบบหัวจรดเท้า ฟีเจอร์ที่ดีไม่เคยถูกทำขึ้นเพื่อสนองตัณหาของคนในทีม

ถามว่าฟีเจอร์มาจากไหน คำตอบคือฟีเจอร์มาจากการศึกษาและทำความเข้าใจกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเราให้ได้มากที่สุด — ปัญหา ทางแก้ คู่แข่ง ผู้ใช้ เทคโนโลยี สังคม และวัฒนธรรม คนที่เก่งกว่าคือคนที่เชื่อมโยงข้อมูลที่มหาศาลเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อสร้างคุณค่าได้ดีกว่าและเร็วกว่า

ยากแต่สนุกมาก … การคิดและสร้างฟีเจอร์เพื่อสร้างซอฟต์แวร์ที่เป็นของเราเอง อย่ามองข้ามคำว่า “ของเราเอง” เพราะนั่นคือความแตกต่างที่เราสร้างได้ เรานำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับโลกได้ด้วยการใส่ความเป็นตัวเองลงไป

การคิดฟีเจอร์คือศาสตร์ (การศึกษาข้อมูลในช่วงแรก) และศิลป์ (การเลือกและเพิ่มสิ่งใหม่ๆลงไป) จริงๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *