👒 เมื่อต้องดีไซน์

แนวทางที่ดีที่สุดที่เราจะรู้ได้ชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าและผู้ใช้ต้องการคือการเอาสินค้าไปให้พวกเขาทดลองใช้

แนวทางที่ดีรองลงมาคือ … เราต้องลองออกแบบสินค้าหรือซอฟต์แวร์ตัวนี้ด้วยตัวเองเพื่อเรียนรู้อย่างลึกซึ้งลงไปว่าอะไรคือวิธีการที่ถูกต้องและอะไรคือวิธีการที่ยุ่งยากเกินไป

เมื่อพูดถึงคำว่า “การส่งมอบสิ่งที่ลูกค้าต้องการ” … งานนี้เป็นหน้าที่ของใคร? คำตอบคือหลายคน คำตอบคือทั้งทีม แต่มีหนึ่งคนที่ควรต้องรู้สึกรับผิดชอบมากกว่าใคร คนนั้นคือคนโปรดักท์

คำถามคือการออกแบบโปรดักท์เป็นหน้าที่ของใคร? ยูเอ็กซ์และยูไอ …​ใช่ ก็ถูก ตามชื่อตำแหน่งมันก็เห็นๆกันอยู่ว่าสองคนนี้ต้องทำงานนี้ แต่ … ใครเป็นคนเข้าใจเป้าหมายและความต้องการของลูกค้าที่สุด คำตอบควรเป็นคนโปรดักท์

ดังนั้นโปรดักท์กับการออกแบบคือสิ่งที่แยกกันไม่ได้ ใครที่ไม่ได้ออกแบบหรือมีส่วนร่วมในการตั้งต้นการออกแบบนั้นถือว่ายังทำหน้าที่ของตัวเองได้ไม่สมบูรณ์

สิ่งแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นคือการเข้าประชุมกับลูกค้า จดสิ่งที่ได้ยินและประเด็นสำคัญ แล้วเริ่มต้นคิดเพื่อนำเสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่ลูกค้าเจออยู่ เขียนออกมาเป็นประโยค แล้วเริ่มออกแบบเวิร์คโฟลของซอฟต์แวร์ว่าต้องทำอะไรบ้าง

เมื่อเริ่มเข้ารูปเข้ารอย ..​. ก็ต้องเริ่มออกแบบยูเอ็กซ์และยูไอไปด้วยไม่ต้องสวยงาม ไม่ต้องเป๊ะ แต่มันควรต้องเข้าใจง่าย ใช้งานง่าย และเป็นสิ่งที่จะใช้งานในอนาคตได้อีกไกลๆ เพราะการออกแบบจะช่วยให้เราเข้าใจลอจิกมากขึ้น ทำให้เราเห็นภาพประสบการณ์การใช้งานที่ลูกค้าจะได้รับมากขึ้น ถ้ามันยากสำหรับเรา มันก็จะยากสำหรับพวกเขาแน่นอน นี่คือขั้นแรกในการคัดกรองคุณภาพของซอฟต์แวร์ …​ ด้วยการออกแบบจากคนที่ (ควรจะ) เข้าใจความต้องการของลูกค้ามากกว่าใครในทีม

คนโปรดักท์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการออกแบบ เวิร์คโฟล เลย์เอ้าท์ และอื่นๆ

คนโปรดักท์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฝึกฝนทักษะในเรื่องการออกแบบเพื่อทำให้โปรดักท์ของตัวเองดีขึ้นและดีขึ้น

คนโปรดักท์จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเป็นกระบอกเสียงแทนลูกค้าและผู้ใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการถกเถียงกันระหว่างเรื่องลูกค้าและเรื่องทางเทคนิค

ถ้าเวิร์คโฟลและการออกแบบที่คิดและเตรียมมามันโอเคกับลูกค้าจริงๆ ทางเทคนิคก็ต้องพยายามหาทางตอบโจทย์สิ่งนี้ให้ได้ ใครละจะเป็นคนที่อธิบายเรื่องนี้กับทีมได้ดีเท่าโปรดักท์?

ใครละจะเป็นผู้นำเรื่องนี้ได้ดีกว่าโปรดักท์ที่เข้าใจการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาอย่างลึกซึ้ง? — ไม่มี … และนี่จะเป็นคุณค่ามหาศาลที่โปรดักท์สร้างให้ทีมและองค์กรได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *