“นี่เราทำงานหนักมั้ย?” เป็นคำถามที่ผมถามตัวเองบ่อยๆ คำตอบในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือ “ไม่เลย ไม่หนักเลย” ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะลักษณะงานที่ไม่ยุ่งและเป็นอิสระ ทำให้การจัดการเวลาเป็นเรื่องไม่เหลือบ่ากว่าแรง
แน่นอนว่าการทำงานในบริษัททั่วไปมีข้อจำกัดมากกว่า มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่า ทำให้งานมันเยอะมากกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้การจัดการเวลาของตัวเองเป็นเรื่องยาก แต่ผมก็เชื่อมั่นว่ามันไม่ได้ยากขนาดเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกถึงความสมดุลระหว่างการลงแรงกับประสิทธิภาพ (Effort vs. Productivity)
หลักการที่ผมยึดถือตลอดมาตั้งแต่ตอนทำงานเป็นลูกจ้างคนอื่นและทำงานเป็นลูกจ้างตัวเองคือการตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่?”
มันไม่ใช่คำถามที่ต้องการคำตอบแบบกำปั้นทุบดินประเภท เรานั่งประชุมอยู่ เราอัพเดทรีไควเม้นต์อยู่ เราวาดซีเคว้นไดอะแกรมอยู่ เรานั่งรีวิวเทสเคสอยู่ เราหายใจอยู่ …
ผมถามตัวเองคำถามนี้ก่อนเริ่มและระหว่างทำงานตลอดเพราะผมต้องการตรวจสอบให้แน่ใจว่าสิ่งที่ผมทำนั้นมันคุ้มค่าและส่งผลโดยตรงต่อเป้าหมายใหญ่ เพื่อท้าทายตัวเองว่ามันมีวิธีการที่ดีกว่านี้ที่เร็วกว่านี้ที่เหนื่อยน้อยกว่านี้ที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายนั้นอยู่มั้ย?
ในช่วงที่ผมนัดประชุมกับเพื่อนในทีมเพื่อคุยอัพเดทงาน (ตอนที่ยังไปทำงานที่ออฟฟิศกันได้อะนะ) มีหลายครั้งที่เราเขียนอธิบายบนกระดานกันอย่างเมามัน และส่วนมากเราก็จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา …
น้องคนที่รับผิดชอบงานนี้ถ่ายรูปไปเรียบร้อย ผมก็ถ่ายรูปมาเรียบร้อย … กลับมาถึงบ้านผมนั่งคิดว่า “อยากทำให้รูปนี้มันออกมาเป็นเอกสารดีๆนะ เก็บไว้เป็นรีเฟอเร้นซ์” แต่ก่อนที่จะเปิดพาวเวอร์พ้อยต์ขึ้นมาวาดรูป ผมก็ถามตัวเองว่า “เรากำลังจะทำอะไร?” — เป้าหมายของเราคืออะไร? มันไม่ใช่อยากได้รูปสวยๆแต่มันคือการสื่อสารเรื่องงานที่เข้าใจตรงกันกับคนทั้งทีม ทำไมผมต้องเสียเวลามานั่งทำเอกสารฉบับนี้ด้วยในเมื่อ
- ตอนนี้ทุกคนก็เข้าใจตรงกันแล้ว
- มันจะเปลี่ยนอีกแน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์
- ใครลืมหรือสงสัยก็โทรมาถามกัน ส่งแชตมาคุยกันได้ตลอดเวลา
ผมค้นพบด้วยตัวเองว่า “เรากำลังทำอะไรอยู่?” เป็นคำถามที่มีพลังมากในการให้แนวทางในการตอบปฏิเสธกิจกรรมหรือคำขอใดๆจากทั้งตัวเองและคนอื่น
การทำงานน้อยกว่าไม่ได้แปลว่าขี้เกียจ … ผมว่ามันคือศิลปะในการจัดลำดับความสำคัญของเวลาชีวิตนะ
อย่างที่เรารู้กันว่าสตี๊ฟ จ๊อบส์ เป็นคนที่มีโฟกัสสูงมากในการทำงาน เป็นคนที่เชื่อในการปฏิเสธข้อเสนอเป็นสิบเป็นร้อยเพื่อคงไว้ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญกว่า … ผมเพิ่งอ่านบทความหนึ่งที่ จอนี่ ไอฟ์ (Jony Ive — อดีต Chief Design Office, Apple) แชร์ให้ฟังว่ามีหนึ่งคำถามที่สตี๊ฟถามเขาแทบทุกวัน … มันคือ
“How many times did you say no today?” — “วันนี้คุณตอบปฏิเสธไปแล้วกี่ครั้ง?”
นี่เป็นคำถามที่ช่วยให้จอนี่มีโฟกัสในการทำงานทุกวัน เขาเล่าให้ฟังต่อด้วยว่าสำหรับสตี๊ฟแล้ว “ยิ่งปฏิเสธมากยิ่งดี” (กลับกันกับที่เราคิดใช่มั้ย) จอนี่ก็อินกับเรื่องนี้มากถึงขั้นพูดว่า “[การเซย์โน] มันเป็นมากกว่าแนวปฏิบัติ มันเป็นมากกว่านิสัยส่วนตัว … แต่มันคือความสามารถที่ยอดเยี่ยมจริงๆ”
วันนี้เราตอบ “ไม่” แล้วกี่ครั้ง? — ผม? … ยังเลย 🤦🏼♂️