🦠 เมื่อเจ้าของเป็นผู้สร้างปัญหา

มองผิวเผินภาพข้างล่างนี้คือกลุ่มก้อนทักษะความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการสร้างโปรดักท์ … อาจจะไม่ครบทุกมุมมองแต่อย่างน้อยต้องมีสามอย่างนี้แน่ๆ

การผสมผสานที่ลงตัวขององค์ความรู้และมนุษย์คือจุดเริ่มต้นของผลลัพธ์ทั้งหมด แต่การทำงานในสภาพแวดล้อมจริงมันไม่ใช่ … บางที่เป็นแบบนี้

และทำให้มันวุ่นวายเข้าไปใหญ่ด้วย … แบบนี้

รูปนี้มันผิดยังไง? … มันผิดเพราะมันไม่ใช่รูปแรก มันไม่มีคำว่าผสมผสาน มันคือไซโล มันเป็นกำแพง มันเป็นพื้นที่ของใครของมัน และที่สำคัญไปกว่านั้นมันมีคนที่เป็นใหญ่คอยควบคุมอยู่

การแบ่งแยกกลุ่มคนตามตำแหน่งและความพยายามยัดเยียดคำว่า “เจ้าของ” ลงไปในกระบวนการทำงานไม่เพียงแต่จะสร้างความขัดแย้ง (เพราะฉันเป็นเจ้าของ ฉันมีอำนาจในเรื่องนี้มากกว่าพวกเธอทุกคน) มันยังไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติอย่างมากเพราะการตัดสินใจด้านหนึ่งจะส่งผลกระทบกับอีกสองด้านอย่างเลี่ยงไม่ได้เสมอ

การตัดสินใจทุกครั้งของทีมพัฒนานั้นส่งผลกับโปรดักท์ โร้ดแมปและการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ ทีมออกแบบเองก็ตัดสินใจทางเลือกในการสร้างเวิร์คโฟลที่ส่งผลโดยตรงกับเทคโนโลยีที่ต้องใช้รวมถึงระยะเวลาของโปรเจกต์ … แล้วโปรดักท์ โอนเนอร์ล่ะ? คงไม่ต้องบรรยายมั้งว่าการวางโร้ดแมปการจัดลำดับความสำคัญของงานนั้นส่งผลกระทบอย่างไรกับอีกสองฝ่าย

ไม่มีการตัดสินใจอันไหนของใครที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนที่เหลือ ก็เพราะแบบนี้การยึดถือคำว่า “เจ้าของ” มันมีแต่จะเป็นตัวถ่วงเป็นตัวจำกัดความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดี เพราะของดีไม่ได้ถูกสร้างจากกลุ่มคนที่เป็น “เจ้าของ” แต่เกิดจากกลุ่มคนที่ยอมรับว่าเพื่อนร่วมทีมทุกคนเป็นเจ้าของในงานชิ้นนี้ร่วมกัน ทั้งตัวโปรดักท์ ทั้งการออกแบบ และแม้แต่ซอร์สโค๊ดทุกบรรทัด

นี่เป็นหลักคิดที่สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องถูกปลูกฝังในใจทุกคนเพื่อให้มันงอกงามในสภาพแวดล้อมของการทำงานจริง มันคือการแบ่งปันความรู้ การรู้จักเคารพในความเห็นของเพื่อนร่วมทีม การกระจายอำนาจการตัดสินใจ การสร้างความโปร่งใสในการทำงาน การแสดงความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน … และการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในทุกเรื่องร่วมกัน

สุดท้ายแล้วเราไม่ใช่เจ้าของ เราเป็นแค่คนที่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนี้ เราไม่ใช่ผู้คุม เราเป็นแค่คนที่พร้อมจะทำงานร่วมกับคนอื่นด้วยความเคารพและจริงใจ

และสุดท้ายแล้วทุกอย่างควรกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่เป็นรากฐานของมัน — รูปบนสุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *