ห้าปีผ่านไป … ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น
มันเป็นเหตุการณ์คลาสสิคที่ทีมงานไอทีในองค์กรใหญ่พยายามที่จะวางแผนไกลๆที่ใหญ่เกินตัวด้วยการมองหาระบบที่สมบูรณ์แบบและตอบโจทย์ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเองต้องการทั้งในวันนี้และอนาคตอีกห้าปีเป็นอย่างน้อย
น่าสนใจว่า … ความพยายามของพวกเขาจะเป็นจริงได้มั้ย? คำตอบคือไม่ได้ ไม่มีระบบไหนที่สมบูรณ์แบบตามความต้องการในวันนี้และอีกห้าปีข้างหน้า
- องค์กรใหญ่มีความหลากหลายในความต้องการสูง มีความแตกต่างในรูปแบบการใช้งานของแต่ละแผนกสูง ไม่มีทางที่จะมีระบบใดระบบหนึ่งที่พร้อมใช้งานแบบฉีกซองแล้วต้มกิน
- ถ้าแผนของพวกเขาคือลงทุนกับระบบใหญ่ระบบเดียวที่ทำงานได้ครอบจักรวาลวันนี้เพื่อห้าปีข้างหน้า พวกเขาคิดผิดอย่างใหญ่หลวงเพราะเมื่อปีหน้ามีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆที่ดีกว่าเกิดขึ้นมา พวกเขาจะพลาดโอกาสทองที่จะได้ใช้มันเพราะ … ก็ฉันลงทุนเงินมหาศาลไปกับระบบนี้แล้ว
ทางเลือกที่พวกเขามีคือ
- พัฒนาเอง เขียนเอง ทำเอง คุมงานเอง แก้เอง เปลี่ยนเอง ทำเองทุกอย่าง เพราะมีแต่ตัวเองเท่านั้นที่รู้ว่าตัวเองอยากได้อะไรแบบไหน … ปัญหาคือพวกเขาไม่พร้อมจะพัฒนาระบบเองอยู่ดี
- เลือกแก้ปัญหาไปทีละจุด เริ่มจากปัญหาใหญ่ก่อน วางแผนเพื่ออนาคตไว้แบบหลวมๆจะได้เผื่อทางหนีทีไล่ไว้ให้ตัวเองบ้าง กำหนดธีมเทคโนโลยีที่อยากใช้ (อย่ากำหนดชื่อระบบหรือฟีเจอร์ยิบย่อย) เลือกทำงานกับเวนเดอร์ที่มีวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกัน เวนเดอร์ที่ถึงแม้วันนี้จะยังไม่อะไรๆไม่พร้อมไปทุกเรื่องแต่เป็นทีมงานที่มีความสามารถที่จะเติมเต็มสิ่งที่ขาดอยู่ให้ได้สมบูรณ์ขึ้นทีละนิดๆ
ไม่มีทางที่จะมีระบบไหนพร้อม 100% ให้ค้นหาลึกละเอียดอย่างไรก็ไม่มีทางหาเจอ ยิ่งพยายามยิ่งเสียโอกาส ยิ่งเรื่องมากยิ่งขาดทุนไปเรื่อยๆ และคนที่เจ็บปวดก็ไม่ใช่ใคร ... ก็ผู้ใช้ที่เจอปัญหาอยู่ทุกวันในองค์กรของตัวเองนั่นแหละ
สมมติเหตุการณ์ว่า ทีมงานนี้ต้องการระบบมาแก้ปัญหาหนึ่งโดยด่วนเพราะแต่ละปีต้องเสียเงินไปกับกระบวนการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ 5 ล้านบาท แต่เพราะทีมไอทีพยายามจะหาอะไรที่มันสมบูรณ์แบบ … ปีแรกหาไม่เจอ เกิดความสูญเสียขึ้นแล้ว 5 ล้าน ปีที่สองก็ยังไม่เจอยังตัดสินใจไม่ได้ เจอไปอีก 5 ล้าน
ปีที่สามตัดสินใจทำเอง เจอไปอีก 5 จนปีที่ 4 เริ่มมีระบบมาให้ใช้แต่ก็ไม่ตอบโจทย์อยู่ดี เจอไปอีก 5 …
และแล้วห้าปีผ่านไป … องค์กรนี้ยังแก้ปัญหาเดิมไม่ได้แต่ต้องเสียเงินจากการไม่เทคแอคชั่นอะไรเลยไปร่วมๆ 25 ล้านบาท
มันก็แปลกดีที่ตรรกะตรงนี้มันก็ตรงไปตรงมาและเข้าใจง่าย ทำไมถึงรอและเลือกมากกันขนาดนั้น