จริงๆแล้วมนุษย์เราไม่ได้มีปัญหาว่าทำได้หรือไม่ได้ … แต่มันน่าจะเป็นเพราะเราไม่รู้จะทำแบบไหนมากกว่า คุ้นๆกับประโยคแบบนี้มั้ย?
“คุณทำแบบนี้ได้รึเปล่า?” — ลูกค้าถาม
“ทำได้หมดครับ ไม่ได้ติดปัญหาทางเทคนิคอะไรเลย เพียงแค่ผมอยากรู้ว่าจะทำหรือไม่ทำและทำในแนวทางไหนกันแน่” — เราตอบไป
ชีวิตคนผลิตโปรดักท์มักจะวนเวียนอยู่กับเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่อยากให้ทำแบบไหนช่วยบอกมาหน่อย แล้วใครต้องทำหน้าที่บอกเรื่องนี้กับเรา?
- เจ้าของธุรกิจ
- หัวหน้าทีมโปรดักท์
- หัวหน้าทีมเทคนิค
หน้าที่ของคนเหล่านี้คือการทำความเข้าใจปัญหาที่ใหญ่และยากให้ลึกซึ้งเพียงพอที่จะแบ่งย่อยและแบ่งงานที่เข้าใจง่ายและชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติ
“เราอยากสร้างรายได้ 100 ล้านบาทภายในปีนี้” — ทำได้ แต่ทำแบบไหนด้วยวิธีการอะไรหละ? … ลูกค้าเอกชนที่มียอดขาย 5,000 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป มีผู้บริหารรุ่นใหม่ และกำลังวางแผนขยายตลาดไปต่างประเทศ
“เราอยากสร้างระบบการวิเคราะห์และคัดแยกใบพืชที่มีโอกาสจะติดโรคระบาดแบบซุปเปอร์เรียล-ไทม์” — ทำได้ แต่ด้วยเงื่อนไขแบบไหนละ? … เริ่มจากพืชไร่ เอาแค่ข้าวโพด ในแปลงหลังบ้านฉันก่อนก็พอ
เพราะนักประดิษฐ์นักสร้างจะทำงานไม่ได้ถ้าไม่มีสเปค หน้าที่การกำหนดสเปคที่สมเหตุสมผลทั้งในแง่ความเป็นไปได้ สโคปงานที่ไม่ใหญ่เกินไป และมีความท้าทายในระดับที่เหมาะสมคือเรื่องสำคัญมาก ถ้าผู้นำทำไม่ได้ทีมงานก็จะเจอความลำบากอย่างยิ่งในการสร้างผลงานเพราะทุกอย่างจะดูยากเกินความสามารถ ทั้งๆที่จริงๆแล้วไม่ใช่เลย พวกเรามีความสามารถเพียงพอกับทุกเรื่อง … กับเรื่องที่ถูกแบ่งย่อยมาแล้วอย่างมีกลยุทธ์
หลายครั้งที่งานไม่เสร็จไม่ใช่เพราะเราไม่มีคุณสมบัติในการปฏิบัติงาน … แต่ทีมเราอาจจะไม่มีคนที่มองภาพรวมและสร้างแผนงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ซะมากกว่า