🔔 กราฟระฆังคว่ำ

เราคุ้นเคยกับกราฟระฆังคว่ำกันดี บางคนเรียกเบลล์เคิร์ฟ (Bell Curve) บางคนรู้จักมันในนามของการกระจายตัวแบบมาตรฐาน (Standard Distribution) ใจความสำคัญของมันคือในบริบทใดๆก็ตามเราสามารถมองภาพการกระจายตัวของตัวเลขหรือปริมาณได้ตามกราฟระฆังคว่ำ

เราใช้มันกับการอธิบายเรื่องการแพร่กระจายของเทคโนโลยี (Technology Diffusion) เราใช้มันเพื่อการแบ่งกลุ่มประชากรด้วยเกณฑ์การเปิดรับไอเดียและสินค้าใหม่ๆ (Market Adoption)

ตามทฤษฎีทางธุรกิจ ถ้าเราอยากร่ำรวยจากการขายสินค้าหรือบริการ เราต้องพยายามเข้าให้ถึงประชากรส่วนใหญ่ในตลาด นั่นคือเราต้องก้าวข้ามคนสองกลุ่มแรกเพื่อไปหาคนกลุ่มที่สามบนกราฟ เราต้องเจาะตลาดให้ได้ลึกและกว้างกว่าเดิม ตัวเลขที่ต้องการคือมากกว่า 18% ขึ้นไป แล้วที่เหลือจะเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ เค้าว่ากันว่า 18% นี้แหละที่ยากแสนสาหัส

แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างช้าๆแต่เพิ่มอัตราความเร่งขึ้นเรื่อยๆคือการละลายตัวลงของระฆังคว่ำ

เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพราะความศิวิไลซ์ของสังคม เพราะการศึกษาที่พัฒนาขึ้น และเพราะความต้องการเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นของปัจเจกบุคคล … ระฆังคว่ำจึงแบนลงทุกวัน คนที่เคยเป็นคนส่วนใหญ่เริ่มไหลมาเป็นกลุ่มผู้พร้อมที่จะลองของใหม่มากขึ้น เราจะเริ่มเห็นคนที่เป็นผู้บุกเบิกมากขึ้นกว่าเดิม

ปรากฎการณ์นี้มีความหมายโดยนัย ในขณะที่เราในฐานะผู้สร้างจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นแต่เราก็จะเห็นว่าในอีกมุมหนึ่งคำว่า “แมส” จะถูกลดความหมายลง แมสซึ่งแต่เดิมคือคนส่วนใหญ่ที่ต้องการอะไรเหมือนๆกันจะเริ่มกลายร่างมาเป็นคนที่มีความต้องการที่เฉพาะเจาะจง มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความเชื่อที่ชัดเจนและมีการตัดสินใจด้วยตัวเอง

กลยุทธ์การเจาะตลาดให้ได้ 18% ไม่จำเป็นต้องก้าวไปหาแมส … เราเลือกจะเป็น “นิช” ได้ นิชสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม นิชสำหรับใครที่ชอบในงานที่เราทำ

แมสจะอยู่ยาก นิชกำลังจะเข้ามา … เพราะการละลายตัวของระฆังคว่ำนั่นเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *