⚙️ ต้นทุนค่าบำรุงรักษา

เมื่อเรากำลังจะปฏิเสธงานอีกชิ้นหนึ่ง ทำใจลำบาก เกรงใจพี่คนที่ติดต่อมา แต่ด้วยข้อจำกัดดังที่จะเล่าให้ฟัง … ทำให้การตอบ “ตกลง” จะไม่เกิดขึ้น

  1. งานนี้ยากมั้ย? — ไม่ยาก สเกลไม่ใหญ่เท่าไร ไม่มีอะไรซับซ้อนจนน่ากลัว … ผ่าน
  2. งานนี้ท้าทายมั้ย? — พอสมควร … ผ่าน
  3. งานนี้เพื่อนๆในทีมอยากทำมั้ย? — อยาก ทุกคนบอกว่าน่าสนใจ ถึงจะต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นแต่ทุกคนพร้อมทำงานหนัก … ผ่าน
  4. งานนี้ใช้เวลาทำนานมั้ย? — ไม่น่าจะนานเท่าไร สามเดือนน่าจะเอาอยู่ … ผ่าน
  5. งานนี้ต่อยอดจากโครงสร้างซอฟต์แวร์ที่ทีมเรามีอยู่แล้วใช่มั้ย? — ใช่เลย … ผ่าน
  6. งานนี้ทีมผมมีความสามารถพอที่จะทำมั้ย? — แน่นอน ประยุกต์อะไรนิดหน่อยเท่านั้นเอง … ผ่าน
  7. งานนี้มีพาร์ทเนอร์ที่เชื่อใจได้มั้ย? — ชัวร์ … ผ่าน
  8. งานนี้มีโอกาสเติบโตแผ่ขยายในอนาคตมั้ย? — ก็มีนะ เปิดตลาดใหม่ … ผ่าน

ทุกข้อที่หยิบยกมาพิจารณา “ผ่าน” หมด … เป็นโปรเจกต์ที่ดูดีใช้ได้แต่ติดเงื่อนไขอยู่ข้อเดียว

แล้วจะยังไงต่อเมื่อทำซอฟต์แวร์เสร็จแล้ว?

“กังวลเรื่องงานเมนเทนแน๊นซ์ครับ”

เมื่อเรานำเสนอกับเจ้าของโปรเจกต์ไปว่า “เรื่องนี้ผมยกให้พี่เลยได้มั้ย? พี่ชาร์จลูกค้าค่าเมนเทนแน๊นซ์แล้วพี่เอาส่วนนั้นไปเลย ถ้าลูกค้ามีปัญหาเรื่องการใช้งานระบบ พี่วิ่งไปเซอร์วิสเองได้มั้ยครับ?”

ต่อให้คนนั้นโอเค งานส่วนนี้ทีมนั้นยินดีรับไปทั้งหมด … แต่เราก็ยังควรต้องขอเวลาคิดอีกรอบ ยังไม่ควรตอบรับหรือปฏิเสธไป เพราะเมื่อเรามีเวลามากพอที่จะคิด มันก็มาติดปัญหาที่ตรงนี้

ถึงแม้งานเซอร์วิสจะมีทีมช่วยรับผิดชอบไปแต่เมื่อพูดถึงซอฟต์แวร์เราก็ต้องพูดถึงบั๊กและฟีเจอร์ใหม่ๆ ใครจะทำได้ ใครจะต้องรับผิดชอบ ถ้าไม่ใช่ทีมเรา … นี่แหละประเด็น

งานซอฟต์แวร์มันไม่ใช่แค่โปรเจกต์จบแล้วเสร็จสิ้น … ความรับผิดชอบที่ตามมาหลังจากนั้นมันยิ่งใหญ่และอาจจะน่าเบื่อในบางเวลา

  • ฉันมีงานใหม่ที่น่าสนใจกว่าอยากทำ — ไม่ได้ เธอต้องแก้บั๊กตัวนี้ก่อน
  • ฉันกำลังวุ่นอยู่กับการปั่นงานที่มีในมือ — เอ่อ ลูกค้าอยากได้รีพอร์ตใหม่อะ
  • ฉันกำลังเบรนสตอร์มเพื่อออกแบบระบบใหม่อยู่ — ลูกค้าใช้งานส่วนนี้ไม่เป็น สอนหน่อย

นี่อาจจะไม่ใช่โอกาสแต่มันคือสิ่งรบกวน ทั้งทางกายและทางใจ มันเป็นภาระที่ทีมต้องแบกไปอีกยาวนาน ด้วยจำนวนคนที่มีด้วยพลังงานร่างกายและสมองที่มี … เราพร้อมรับภาระก้อนใหม่นี้มั้ย?

“ผมไม่พร้อมครับ”

ป.ล. — ริชาร์ด แบรนสันพูดไว้ว่า “โอกาสทางธุรกิจก็เหมือนรถเมล์ คลาดคันนี้เดี๋ยวก็มีคันใหม่มา” … การเซย์โนครั้งนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่มีโอกาสเซย์เยสในอนาคต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *