👉🏼 เลือกโปรเจกต์ไหน?

บริษัทที่ดีจะมีกระบวนการตัดสินใจในการเลือกใช้ทรัพยากร (คนและเงิน) อย่างมีระบบ การเลือกระหว่างสองโปรเจกต์จะเป็นไปอย่างมีขั้นตอนและผู้ชนะมักจะต้อง

  1. ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าหรือกลุ่มตลาดที่ชัดเจน และ
  2. มีสัดส่วนกำไรสูงที่สุด

มันไม่จำเป็นเสมอไปที่ผู้ชนะจะเป็นโปรเจกต์ที่คนในบริษัทสนใจและตั้งใจอยากทำ ลูกค้าคือคนที่มีอิทธิพลสูงสุดในการตัดสินใจอย่างชัดเจน

ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรผิดแปลกกับการเลือกลงทุนกับสิ่งที่ตรงความต้องการของลูกค้ากลุ่มเดิมและได้กำไรสูง แต่หลายต่อหลายครั้งโปรเจกต์เหล่านั้นนำมาซึ่งนวัตกรรมแบบต่อยอดแต่ไม่ได้ก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมแบบใหม่ที่ยิ่งยวดชนิดที่ว่าพลิกวงการ … นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเสียโอกาสในอนาคตรูปแบบหนึ่ง

นวัตกรรมที่พลิกวงการมักจะมาจากโปรเจกต์ที่ดูไม่สมเหตุสมผลในหน้ากระดาษ ประเภทว่ายังไม่รู้ว่าลูกค้าที่แน่ชัดคือใคร ยังไม่แน่ใจว่าคนเหล่านั้นสนใจซื้อสินค้าใหม่นี้มั้ย ยังไม่ชัวร์ว่าขนาดตลาดใหญ่แค่ไหน และก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะได้สัดส่วนกำไรเท่าไร โปรเจกต์ประเภทนี้มักจะมาจากความอยากรู้อยากเห็นอยากลองอยากสร้างของคนระดับพนักงานที่ทำงานใกล้ชิดโลกแห่งความเป็นจริง พวกเขาเห็นแนวโน้มอะไรใหม่ๆที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมและเห็นโอกาสในการเปลี่ยนแนวคิดนั้นให้เป็นสินค้าและบริการแบบใหม่ๆได้ … ในอนาคตอันไกล

ประเด็นมันก็คือคำว่าอนาคตอันไกลนี่แหละที่ผู้บริหารไม่ชอบเพราะมันเป็นอนาคตที่ลูกค้าในมือไม่มีส่วนร่วมไม่มีความต้องการและไม่ให้ความสนใจ แปลว่ามันยังขายทำกำไรไม่ได้ … โปรเจกต์ประเภทนี้จึงถูกฆ่าตัดตอนตั้งแต่ต้นๆ

บริษัทใหญ่ต่างจากบริษัทเล็กหรือสตาร์ทอัพก็ตรงนี้ ด้วยความที่ไม่มีอะไรจะเสียความกล้าในการทดลองอะไรใหม่ๆเพื่อความหวังอันไกลโพ้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นจุดแข็งของพวกเขา เพราะเขารู้ดีว่าเขาไม่สามารถสู้กับบริษัทใหญ่ในเกมส์ที่บริษัทใหญ่เป็นคนออกกฎกติกาได้ ทั้งรูปแบบสินค้าบริการ ทั้งราคาขาย ทั้งเทคโนโลยี ทั้งแผนการตลาด และทั้งทรัพยากรบุคคล พวกเขาต้องคิดใหม่ทำใหม่ พวกเขาต้องคิดให้ไกลกว่า พวกเขาต้องคิดออกนอกกรอบเดิมๆมากกว่า อะไรที่น่าตื่นเต้นและเข้าถึงง่ายกว่าจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกโปรเจกต์ที่จะทำ ไม่ใช่ว่าต้องมีลูกค้าชัดเจนและได้สัดส่วนกำไรสูงสุด

นวัตกรรมแบบพลิกวงการส่วนใหญ่จึงมาจากบริษัทเล็กๆเหล่านี้ และมันยิ่งตอกย้ำข้อกล่าวหาที่ว่า “นวัตกรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในบริษัทใหญ่” … ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะบริษัทใหญ่ไม่มีความสามารถทักษะหรือประสบการณ์ ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีเงินทุน ไม่ใช่พวกเขาไม่มีเส้นสาย และไม่ใช่เพราะผู้บริหารของพวกเขาไม่เอาถ่าน แต่เป็นเพราะพวกเขามีกระบวนการตัดสินใจที่ดีและเป็นไปตามรูปแบบมากเกินไป

  1. ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าหรือกลุ่มตลาดที่ชัดเจน และ
  2. มีสัดส่วนกำไรสูงที่สุด

นี่แหละ… การทำบางเรื่องได้ดีขึ้นกลับส่งผลเสียในระยะยาว

บทเรียนที่น่าสนใจคือการแบ่งความสนใจอย่างเหมาะสมไปที่โอกาสของปัจจุบันและโอกาสของอนาคต มันคือการไม่ยึดติดอยู่ในกรอบมากเกินไปและกล้าเสี่ยงในบางจังหวะเวลาอย่างมีแผนงาน ลองเลือกฟังเสียงตัวเองเป็นหลักดูบ้าง ลองเลือกพิจารณาโปรเจกต์ที่ทำเพื่อลูกค้าตลาดกลางและล่างดูบ้าง ลองเลือกพิจารณาโปรเจกต์ที่เข้าคนถึงส่วนใหญ่ดูบ้างถึงแม้มันจะยังไม่สามารถสร้างผลตอบแทนอย่างเป็นกอบเป็นกำให้เราได้ในวันนี้

เพราะเทคโนโลยีถูกแทนที่ได้ทุกวัน เพราะโปรเจกต์ที่เราลงทุนต่อยอดความสุดยอดของสินค้าที่เรามีอยู่นั้นมันจะเกินความต้องการของลูกค้าระดับไฮเอ็นของเราภายในไม่กี่ปี และเมื่อจังหวะนั้นมาถึงนวัตกรรมแบบต่อยอดที่เรามุ่งมั่นพัฒนามาจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสนใจเพราะนวัตกรรมแบบพลิกวงการที่บริษัทเล็กๆนั้นสร้างมากำลังเข้ามาแทนที่ … ไม่ใช่แค่ลูกค้ากลุ่มบนที่เราจะเสียไป มันอาจจะหมายถึงทั้งธุรกิจเลยทีเดียว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *