บางคนรู้ว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคำตอบก็คือคำถาม … บางคนรู้ว่าถ้าตั้งคำถามผิดคำตอบที่ได้จะไร้คุณค่า
บางครั้งการมีอำนาจและทรัพยากรมากเกินไปทำให้เราละเลยในการคิดไตร่ตรองให้ดี และมันก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้บริษัทใหญ่ที่มีอำนาจและทรัพยากรเหลือล้นต้องพบเจอกับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในความพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ
มันถูกต้องแล้วที่พวกเขาจัดตั้งทีมใหม่ บางครั้งถึงขั้นจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อ “ค้นหา” สิ่งที่ใช่ … เรารู้กันดีว่านวัตกรรมไม่เคยเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์และการควบคุม คนดีไม่เคยเอาชนะระบบที่แย่ได้ การแยกตัวเองออกมาจึงเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง
แต่ … แยกอย่างอิสระหรือไม่? นี่คือคำถามสำคัญ
“พวกคุณลองดูหน่อยนะว่าจากธุรกิจปัจจุบันที่เรามี คุณจะสร้างโปรดักท์สำหรับอนาคตอะไรออกมาได้บ้าง” — ถ้าผู้บริหารสูงสุดตั้งคำถามเช่นนี้ … ความลำบากจะมาเยือนคนทำงานเพราะมันสื่อถึงความเชื่อมโยงกลับไปที่ระบบระเบียบเดิมๆที่มีปัญหา
- การทำงานด้วยกรอบแนวคิดเดิมๆ ของบริษัทแม่
- การทำงานกับคนเดิมๆ ในบริษัทแม่
- การทำงานกับขั้นตอนเดิมๆ จากบริษัทแม่
การแยกทีมหรือแยกบริษัทออกมาจะช่วยอะไรได้ตราบใดที่กิจกรรมส่วนหนึ่ง (ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ) ต้องถูกดึงกลับเข้าไปในวังวนเดิมๆ
แน่นอน … ผู้บริหารต้องมองหาประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน ผู้บริหารต้องมองหาการลดต้นทุน ผู้บริหารต้องมองหาการแบ่งปันทรัพยากร ผู้บริหารต้องมองหาการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ทวีคูณ (ที่เรียกกันว่า ซินเนอร์จีย์ — Synergy) … แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ตอนนี้ ไม่ใช่ตอนเริ่มต้น ไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการทดลองและค้นหาสิ่งใหม่ๆ
ยิ่งเร่งรีบบีบบังคับให้อยู่ในกรอบมากเท่าไร งานที่ดีจะยิ่งคลอดออกมายาก และเป้าหมายที่ผู้บริหารตั้งไว้ว่าอยากให้ทีมใหม่ที่เต็มไปด้วยคนที่มีความสามารถและความเป็นมืออาชีพแบบนี้สร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาจึงยิ่งห่างไกลความจริงไปทุกวัน
เพราะการตั้งคำถามผิดแค่ข้อเดียว
แต่ถ้า … ถ้าเรามีทรัพยากรเหลือล้นซะขนาดนั้น ถ้าเรามีความกล้ามากเพียงพอ … ลองตั้งคำถามแบบนี้ดีมั้ย?
“พวกคุณลองดูหน่อยนะ อะไรก็ได้ที่อยู่ในธีมไฟแนนเชียล ผมอยากได้ข้อเสนอดีๆจากพวกคุณ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นอะไรที่ต่อยอดจากธุรกิจเดิมของเรา ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับบริษัทแม่ไม่ว่าจะในแง่ไหน … ผมอยากให้พวกคุณได้อิสระเต็มที่และยิ่งอยู่ห่างจากการทำงานรูปแบบเดิมๆได้เท่าไรยิ่งดี … สามเดือนพอมั้ย? ผมอยากได้อะไรที่น่าสนใจจากทีมของคุณ” — นี่คือคำถามที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์นี้มากกว่า (ในความคิดของผม)
มันชัดเจนว่าเราไว้ใจและเชื่อมั่นในทีมงานทีมนี้ มันชัดเจนว่าเราอยากให้พวกเขาได้อิสระในการทำงานอย่างเต็มที่เพื่อสร้างสิ่งที่ยอดเยี่ยมออกมา และมันชัดเจนว่าเราเข้าใจคำว่านวัตกรรมดีพอ