🔔 อยู่ฝั่งซ้าย

เราทุกคนใช้ชีวิตอยู่บนกราฟระฆังคว่ำ (Bell Curve) มันคือทฤษฎีการกระจายตัวของอะไรบางอย่าง เช่น การกระจายตัวของเทคโนโลยีเข้าสู่ตลาด — Technology Diffusion

คนที่พร้อมลองก่อน พร้อมลุยก่อนคือคนด้านซ้ายของกราฟ ความน่าสนใจของมันคือพวกเราบางคนใส่หมวกสองใบ หนึ่งในฐานะผู้บริโภคและสองในฐานะผู้ผลิต ในบางเรื่องเราอาจจะยืนกันคนละขั้ว เช่น

ผมในฐานะผู้บริโภคคือคนที่อยากเกาะเทรนด์ อยากอัพเดทอะไรใหม่ๆ อยากได้สินค้ารุ่นล่าสุดเป็นคนแรก พร้อมเสี่ยงพร้อมจ่าย … แต่ผมในฐานะผู้สร้าง ผมกลัวการอัพเดทของเทคโนโลยีมากๆ ไลบรารี่ใหม่ ภาษาใหม่ เดต้าเบสใหม่ๆ ไม่เอาได้มั้ย ไม่อยากรู้ ไม่อยากเปลี่ยน ของเดิมมันก็เวิร์คในแบบของมันอยู่แล้ว

ผม (สมมติ) คนแรกคือคนกล้าเสี่ยงในฐานะผู้บริโภค ผมคนเดียวกันเป็นคนขี้กลัวเมื่อต้องใส่หมวกผู้ผลิต

เราเป็นแบบไหน?

ในฐานะผู้บริโภคมันคือตัวเอง มันคือความชอบส่วนตัว ความเสี่ยงคือถ้าเราซื้อสินค้ารุ่นแรกที่ยังไม่เสถียรเท่าไร เราก็อาจจะเสียเงินฟรี

ในฐานะผู้ผลิตมันคือทีม มันคือองค์กร ความเสี่ยง (ใหญ่หลวงกว่า) ถ้าเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมทดลองอะไรใหม่ๆ เราอาจจะกลายเป็นบริษัทที่ตกยุค ความเสี่ยงคืออนาคตของบริษัท

ผม (ตัวจริง) เป็นคนไม่ค่อยอะไรมากกับสินค้ารุ่นใหม่ แทบไม่เคยรีบซื้ออะไรที่เพิ่งออกใหม่ด้วยรุ่นที่ดีที่สุดในราคาที่แพงที่สุด ผมพร้อมใช้สินค้าตกรุ่นถ้ามันคุ้มราคาที่ผมจ่ายไป

ผม (ตัวจริง) ในมุมกลับกันกับคำว่าผู้ผลิต ผมตื่นเต้นตลอดที่ได้เห็นอะไรใหม่ถูกปล่อยออกมาในโลกเทคโนโลยี ผมอยากลองมาก อยากเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ให้ไปใช้ของใหม่ อยากทดสอบว่าชิปรุ่นล่าสุดมันจะดีกว่าเดิมแค่ไหน มันจะช่วยให้เราสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้ยังไง ผมพร้อมเสี่ยงเสมอ จนบางครั้งก็ถูกเตือนว่า “เร็วไปๆ ยังไม่ต้องรีบขนาดนั้น” 🚀

ผมเฉยๆมากกับสินค้าใหม่ที่ใช้เป็นการส่วนตัว ผมคือคนตรงกลาง

ผมอยากลองของใหม่กับธุรกิจตัวเอง ผมคือคนฝั่งซ้ายของกราฟ

เราเป็นแบบไหน?

ถึงแม้จะไม่มีอะไรถูก 100% หรือผิดแบบเต็มประตู แต่ถ้าเลือกได้ ถ้าฝืนใจตัวเองได้ ในฐานะผู้ผลิต …​ เอียงๆมาฝั่งซ้ายไว้บ้างก็จะดี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *