✅ ฟีเจอร์หรือบั๊ก

ในซอฟต์แวร์ ถ้าอะไรที่มันทำงานแตกต่างจากสิ่งที่เรากำหนดและคาดหวังไว้ เราจะมองว่ามันคือบั๊ก ในมุมกลับกัน … อะไรที่เหมือนกัน เหมือนที่คิดไว้ นั่นคือฟีเจอร์

เราอยู่กับซอฟต์แวร์มานาน บางครั้งนานจนซึมซับไปว่าคนก็คือซอฟต์แวร์ ด้วยแนวคิดนี้ทำให้เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นความแตกต่างของคน ของทักษะ ประสบการณ์และลักษณะนิสัยของคน เมื่อเราเห็นว่ามันไม่เหมือนอย่างที่เราคาดหวังไว้ เราจะมองว่ามันคือบั๊ก และพยามยามจะแก้บั๊กด้วยการทำให้ทุกอย่างของทุกคนเหมือนกัน

มันจะผิดก็ตรงที่ว่าคนไม่ใช่ซอฟต์แวร์ และความแตกต่างของคนคือฟีเจอร์ไม่ใช่บั๊ก

ทำไมมันคือเป็นฟีเจอร์? ก็เพราะความแตกต่างคือการส่งเสริมทำให้ทีมเป็นทีมที่สมบูรณ์ขึ้น ในกรณีนี้เราเปรียบเทียบทีมว่าเป็นซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นแรกต้องการฟีเจอร์ระดับพื้นฐานเพื่อที่จะมีตัวตนอยู่ได้ การสร้างทีมในระยะตั้งไข่แบบนี้จึงต้องการคนที่ทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน ด้วยความสามารถและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน

จินตนาการว่าผู้ก่อตั้งทั้งสามคนเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งหมด … เหมือนกัน เรียนจบที่เดียวกัน เริ่มงานที่เดียวกัน และสนใจในเรื่องเดียวกัน … ความเหมือนกันตรงนี้คือฟีเจอร์หรือบั๊ก? คำถามนี้ตอบได้ง่ายๆว่า ถ้าเรารีลีสซอฟต์แวร์ตัวนี้ (หรือทีมนี้) ออกไปสู่โลกภายนอก มันจะอยู่รอดหรือจะล้มคว่ำ มันชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องเป็นอย่างหลังเพราะ “ซอฟต์แวร์ตัวนี้ทำอะไรได้ไม่ได้เลยนอกจากเขียนโปรแกรม” — ไม่มีธุรกิจ ไม่มีการตลาด ไม่มีการขาย ไม่มีกลยุทธ์ ก็เตรียมตัวตายลูกเดียว

ความเหมือนกันของคนตรงนี้จึงเป็นส่วนผสมที่ไม่ลงตัวของทีม นั่นแปลว่าการสร้างทีมจึงต้องมองหาความแตกต่าง เมื่อเราเก่งเขียนโปรแกรม เราต้องหาคนที่รู้เรื่องการทำธุรกิจ เมื่อเราเป็นคนถนัดคิดและชอบสร้างวิสัยทัศน์ระยะยาว เราต้องหาคนที่เก่งเรื่องการบริหารและปฏิบัติการ

ความแตกต่างคือฟีเจอร์ที่ขาดไม่ได้ และความผิดพลาดสูงสุดของการบริหารจัดการในการสร้างคน สร้างทีม และสร้างองค์กรที่ดีคือการมองว่าความแตกต่างคือบั๊ก

การครอบแนวทางการพัฒนาตัวเองของคนด้วยมาตรฐานกลางที่องค์กรกำหนดขึ้นคือหนึ่งในสัญญาณที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า “ฉันกำลังจะแก้บั๊กที่ตัวพวกเธอเพื่อให้พวกเธอทำงานได้เหมือนกันตามรูปแบบที่ฉันคิดว่าควรจะเป็น”

ยิ่งแก้เรายิ่งขาดความแตกต่าง ยิ่งแก้แปลว่ายิ่งผลิตบั๊ก ยิ่งแก้ยิ่งแย่ลง

มันเป็นการลงทุนระยะยาว การสร้างและพัฒนาคนไม่เคยเป็นเรื่องระยะสั้นอยู่แล้ว ทางเลือกที่ดีกว่าคือการเปลี่ยนแนวคิดก่อน เราต้องมองหาฟีเจอร์จากความแตกต่าง เราต้องพัฒนาฟีเจอร์นั้นให้แข็งแกร่งขึ้นด้วยการมองคนให้เป็นปัจเจกบุคคล คำถามเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องหยิบออกมาใช้บ่อยๆ

  • น้องสนใจทำอะไร?
  • น้องทำอะไรแล้วมีความสุข?
  • น้องมองอนาคตตัวเองอย่างไร?
  • น้องคิดว่าจุดแข็งของตัวเองอยู่ที่ไหน?
  • น้องมองบทบาทของตัวเองในทีมนี้อย่างไร?
  • น้องคิดว่าพี่จะมีส่วนช่วยให้น้องทำงานได้ดีกว่าเดิมได้อย่างไรบ้าง?

เริ่มต้นจากความเป็นคน คนที่มีความคิดความต้องการและแรงปรารถนาที่แตกต่างกันโดยธรรมชาติ เราจึงต้องเริ่มต้องด้วยตัวพวกเขา ไม่ใช่ความต้องการและความคาดหวังของเรา

เมื่อเรามองข้ามบั๊กไปได้ เราจะเห็นว่าความแตกต่างคือสิ่งสวยงาม ความแตกต่างคือโอกาสในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความแตกต่างคือจุดแข็งของทีมและองค์กรของเราที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ 🥰

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *