👨🏽‍⚖️ หลักการ

แน่นอน — คนเราต้องการความรู้ในการทำงาน ทุกวันนี้สมมติฐานข้อนี้กลายเป็นสามัญสำนึกไปแล้ว คนมีความรู้มากแปลว่าเก่งและมีโอกาสทำงานได้ดี คนมีความรู้น้อยแปลว่า … และมีโอกาสล้มเหลวสูง — นี่เรากำลังให้ความสำคัญกับความรู้มากเกินไปหรือเปล่า?

ความรู้เป็นเรื่องปลายทาง ความรู้ไม่ใช่จุดตั้งต้น … ทำไมผมถึงพูดแบบนี้ … การมีความรู้ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าเราจะทำในสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ เมื่อเทียบกับหลักการความรู้จะเป็นสิ่งที่มาทีหลัง นั่นคือหลักการจะเป็นตัวกำหนดความรู้ และความรู้ไม่ควรเป็นตัวกำหนดหลักการ

ถ้าเรามีหลักการที่มั่นคง ถ้าเรามีความกล้าที่จะยึดถือมันเป็นเข็มทิศในการทำงาน เราจะเลือกประยุกต์ความรู้ที่มีอยู่หลายหลายได้อย่างเหมาะสม — ทุกอย่างต้องเป็นไปตามลำดับนี้เท่านั้น

  1. หลักการ
  2. ความกล้า
  3. ความรู้

เหตุการณ์ที่หนึ่ง

ทีมเอ — กำลังสร้างระบบหนึ่งขึ้นมา คนที่มีความรู้ทั้งหลายอธิบายให้คนที่ไม่มีความรู้เท่าไรฟังว่า “นี่นะ ระบบเราจะแยกออกเป็นสองส่วนแบบนี้ ถ้าลูกค้ากดปุ่มแรกข้อมูลจะถูกส่งมาทางซ้าย ถ้าลูกค้ากดปุ่มที่สองข้อมูลจะถูกส่งมาทางขวา”

คนไม่มีความรู้แต่มีหลักการจะฉุกคิดขึ้นมาได้ทันทีว่า “ในเมื่อปุ่มแรกและปุ่มสองมันทำหน้าที่คล้ายๆกัน ทำไมระบบถึงต้องแยกวิ่งไปซ้ายไปขวา ทำไมไม่อยู่ที่เดียวกัน?”

“Software should be centralized and reusable when appropriated. Don’t Repeat Yourself (D.R.Y)

คนไม่มีความรู้แต่มีหลักการและความกล้าจะถามคนที่มีความรู้แบบนี้ เขาไม่รู้หรอกว่าทางเทคนิคมันจะต้องทำยังไง เขาไม่มีความรู้แต่เขามีหลักการว่าถ้าอะไรที่ทำงานเหมือนกันก็ควรจะอยู่ด้วยกัน ไม่ควรจะมีส่วนไหนทำงานซ้ำซ้อนกันนอกจากมีเหตุผลที่รับฟังได้จริงๆ

คนมีความรู้แต่ไม่มีหลักการจะจัดการปัญหานี้แบบผิดทิศผิดทาง


เหตุการณ์ที่สอง

ทีมบี — กำลังปวดหัวกับปัญหาการจัดการบัญชีผู้ใช้นอกบริษัท ผู้ใช้ภายในเค้ามีเซิร์ฟเวอร์ LDAP ตัวกลางช่วย แต่ภายนอกหละ? คนมีความรู้ทางเทคนิคแนะนำว่าให้สร้างเซิร์ฟเวอร์ LDAP ของเราเองโดยเฉพาะเพื่อจัดการกับผู้ใช้ภายนอก

“Don’t reinvent the wheel, unnecessarily”

คนไม่มีความรู้แต่มีหลักการจะรู้สึกแปลกๆก่อนจะถามตัวเองว่า “คนอื่นเขาทำกันแบบนี้หรอวะ? ไม่เคยได้ยิน” เขาจะไม่คล้อยตามคนที่มีความรู้มากกว่าง่ายๆ เขาจะกลับไปหาข้อมูลมาว่าคนอื่นเขาแก้ปัญหานี้กันยังไง

คนมีความรู้แต่ไม่มีหลักการก็จะจัดการปัญหานี้ด้วยการขี่ช้างจับตั๊กแตน


เหตุการณ์ที่สาม

ทีมซี — รู้ทั้งรู้ว่าการโละซอฟต์แวร์เก่าแล้วเขียนใหม่เป็นเรื่องคิดสั้นแต่ด้วยคำสั่งจากเบื้องบน … พวกเขาปฏิเสธไม่ได้ต้องเขียน API สำหรับแพลตฟอร์มนี้ใหม่ทั้งหมดเพื่อตอบโจทย์คำว่า “Easy to Use” คนมีความรู้ขอออกความคิดเห็นก่อนตามปกติ “ผมคิดว่าจะใช้ของเก่าเป็นพื้นฐาน บลา บลา บลา …”

“No problem can be solved from the same level of consciousness that created it.” — Albert Einstein

ระหว่างที่ฟังคนมีความรู้เล่าอยู่ คนที่ไม่มีความรู้แต่มีหลักการจะเสียสมาธิไปตั้งแต่ประโยคแรกแล้ว “ก็ของเก่าแม่งห่วย ใช้โคตรยาก แต่จะเอามาใช้เป็นพื้นฐานของอันใหม่เนี่ยะนะ” … ไอน์สไตน์เปรยไว้ว่า “ไม่มีปัญหาไหนถูกแก้ไขได้ด้วยความรู้ระดับเดียวกับที่สร้างมันขึ้นมา” คนไม่มีความรู้แต่มีหลักการและความกล้าจะประกาศกลางห้องประชุมว่า “เราจะไม่ทำอะไรเหมือนของเดิม นอกจากจำเป็นจริงๆ คำว่าจำเป็นจริงๆ ผมหมายถึงเมื่อมันจำเป็นจริงๆเท่านั้น”

คนมีความรู้แต่ไม่มีหลักการจะสร้างปัญหาเพิ่มไม่ใช่แก้ปัญหาเดิม


นี่เป็นแค่สามเหตุการณ์สมมติ (ที่เกิดขึ้นจริง) ที่ย้ำให้ผมเห็นว่าหลักการนั้นสำคัญขนาดไหน ผมเชื่อนะว่าทุกคนในทีมของเรามีความรู้กันหมดแหละแต่ถามจริงๆในทีมเรามีคนที่มีหลักการและความกล้าอยู่บ้างมั้ย? นี่คืออีกหนึ่งปัจจัยที่แบ่งแยกทีมกลางๆกับทีมที่ดี

ไม่ใช่ความรู้ไม่สำคัญแต่สำหรับผมถ้าทำได้อย่าคิดแต่จะหาความรู้ จงใช้เวลาหาหลักการให้ชีวิตด้วยครับ มันคุ้มค่าแน่นอนเพราะหลักการเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนบ่อย ไม่ตกเทรนด์ง่ายๆ หลักการจะเป็นช่วยกำหนดจัดระเบียบและเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่เรามีและต้องการเอง

เราให้ความสำคัญเราให้เกียรติกับคนที่มีความรู้อย่างไร / คนที่มีหลักการและความกล้าก็ควรได้รับสิ่งนั้นในระดับเดียวกัน 👑

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *