✍🏼 เป้าหมายใกล้มือ

ผมอ่านหนังสือที่ชื่อ Good Strategy/Bad Strategy: The difference and why it matters อยู่แล้วก็พบข้อคิดที่น่าสนใจครับ

ผู้เขียนพูดถึงกลยุทธ์ในการตั้งเป้าหมายที่ดีที่สมเหตุสมผลและที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จเป็นจริงขึ้นมา กลยุทธ์ที่ว่านี้ผมขอแปลเป็นภาษาไทยว่า “เป้าหมายใกล้มือ”

ในยุค 1960 เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวอเมริกันคือโครงการพามนุษย์โลกไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้เป็นครั้งแรกภายในทศวรรษนั้น ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ประกาศเป้าหมายที่ดูทะเยอทะยานและเป็นไปได้ยากนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1961 … จากมุมมองของคนนอกการส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์และกลับมาโลกอย่างปลอดภัยนั้นเป็นเรื่องที่ไกลเกินฝันมากๆ มันเป็นภารกิจที่ดูเป็นไปไม่ได้ด้วยเทคโนโลยีในสมัยนั้น มันเหมือนเป็นการตั้งเป้าหมายแบบเพ้อฝันเลื่อนลอยและเป็นเกมการเมืองซะมากกว่า

แต่เบื้องลึกเบื้องหลังแล้วไม่ใช่แบบนั้นเลย การตั้งเป้าหมายครั้งนี้มีพื้นฐานอยู่บนความจริงและความจริงที่ว่านั้นก็คือสหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้าไปมากแล้วในการศึกษาวิจัยและทดลองการส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ บวกกับระยะเวลาที่มีอีกถึง 8–9 ปี (จาก 1961–1969) โครงการส่งคนไปดวงจันทร์จึงเป็นเหมือนเป้าหมายใกล้มือที่มีความเป็นไปได้สูง 👨🏻‍🚀🌑🚀👽

เมื่อมีความคืบหน้าอยู่แล้ว เมื่อมีทรัพยากร (คน เงิน) ที่เพียบพร้อม เมื่อได้รับการสนับสนุนจากคนทั้งชาติ … การทำให้เป้าหมายนี้เป็นจริงจึงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไปเมื่อยานอะพอลโล่ 11 ส่งมนุษย์สองคนแรก (นีล อาร์มสตอง และบัซ อัลดริน) ไปเหยียบพื้นดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกวันที่ 20 กรกฎาคม 1969


การตั้งเป้าหมายที่ใกล้มือเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างกลยุทธ์ที่ดีเพื่อทำให้ความหวังกลายเป็นความจริงครับ การที่โครงการส่งคนไปดวงจันทร์ของสหรัฐอเมริกาเป็นจริงขึ้นมาได้ (ผมเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า) ก็เพราะโมเมนตัมที่พวกเขาได้สร้างขึ้นมา เมื่อเราได้ทำงานในองค์ความรู้ที่เรามีอยู่แล้ว ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย ภายใต้เป้าหมายที่ชัดเจนและการสนับสนุนอย่างดีจากภายนอก … การเพิ่มความท้าทายลงไปจะเป็นการสร้างแรงจูงใจทางบวกให้เราอยากทำงานให้ถึงเป้าหมายได้ตามที่ตั้งใจไว้

ในทางกลับกัน การตั้งเป้าหมายที่ไกลเกินเอื้อมประเภทที่ฟังหรูดูดีนั้นจะให้ผลตรงข้าม เพราะมันยากเกินไป เพราะเรายังไม่มีอะไรเป็นพื้นฐานที่แข็งแรงพอจะยึดและต่อยอดได้ มันทำให้โมเมนตัมไม่เกิด เมื่อไม่มีโมเมนตัมก็ไม่มีแรงจูงใจทางบวกให้เราทำงานอย่างกระตือรือร้น มันเหมือนว่ายิ่งทำยิ่งตัน ยิ่งห่างไกล และเป้าหมายนั้นก็จะดูเหมือนว่าอยู่ห่างเราไปมากขึ้นทุกวัน

เป้าหมายที่ดีคือเป้าหมายที่ท้าทายครับ ถ้ามันฟังดูยิ่งใหญ่อลังการไปพร้อมๆกันด้วยก็จะดีมาก (เช่น โครงการส่งคนไปดวงจันทร์ของนาซ่าหรือโครงการส่งคนไปดาวอังคารของอิลอน มักส์) แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือมันเป็นเป้าหมายที่พอจะเป็นไปได้หรือไม่ มันเป็นเป้าหมายใกล้มือที่เราพอจะสร้างโมเมนต้มให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่ … มันสำคัญมากที่การตั้งเป้าหมายของเราต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย มิฉะนั้นแล้วมันก็จะเป็นได้แค่การประกาศคำพูดสวยหรูแบบไฟไหม้ฟางและแทบจะไม่เห็นผลความแตกต่างอะไรเกิดขึ้นเลย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *