✍🏼 ความหมายที่แท้จริงของ “ทีม”

ผมเริ่มต้นงานแรกหลังเรียนจบด้วยตำแหน่งจูเนียร์ซอฟต์แวร์ดีเวลลอปเปอร์รับผิดชอบในส่วนยูสเซ่อร์ อินเทอร์เฟส … ตลอดเวลาแปดปีของการเขียนโค๊ดเลี้ยงชีพผมไม่เคยเปลี่ยนงาน ผมไม่เคยเปลี่ยนทีม ผมมีหัวหน้าคนเดิม และผมมีเพื่อนกลุ่มเดิม

จากเริ่มต้นสร้างทีมมาด้วยกันกับคน 12 คน จนถึงวันที่ผมสมัครใจย้ายไปทำงานในตำแหน่งใหม่ (โปรเจกต์ เมเนเจอร์) … เจ็ดจาก 12 คนนั้นยังคงทำงานอยู่ด้วยกันในทีมเดิม โปรดักท์เดิม และบรรยากาศแบบเดิมๆ

นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมพวกเราถึงทำงานได้ดี

เพราะทำงานด้วยกัน เพราะคิดด้วยกัน เพราะกินด้วยกัน เพราะเที่ยวด้วยกัน เพราะวางแผนด้วยกัน เพราะถกเถียงกัน เพราะช่วยเหลือกัน เพราะแก้ปัญหามาด้วยกัน เพราะเข้าใจในเนื้องานเท่าๆกัน และที่สำคัญที่สุด … เพราะเราเป็นเพื่อนกันมานาน

นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมพวกเราถึงทำงานได้ดี

และนั่นก็เป็นสาเหตุว่าทำไมคนอีกซีกหนึ่งถึงประสบปัญหาเรื่องผลงานของทีม

เพราะการที่ไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัว เพราะการตั้งกลุ่มขึ้นมาแบบเฉพาะกิจ เพราะการไม่รู้อกรู้ใจกัน และเพราะการต้องทำงานอย่างไม่เต็มใจ

ผมเคยอยู่ในอีกสภาพแวดล้อมหนึ่งที่เอางานเป็นตัวตั้งแล้วใช้คนและทีมเป็นตัวแปร

คำพูดที่ว่า “นี่คืองานที่ต้องทำให้เสร็จภายในไตรมาสนี้ คุณคิดว่าต้องใช้คนกี่คน? แทนที่จะเป็น “ตอนนี้ทีมคุณยุ่งมากมั้ย? คิดว่าจะรับงานเพิ่มได้อีกแค่ไหน?”

นั่นสื่อให้เห็นถึงการเลือกงานมากกว่าคน การให้ความสำคัญต่องานมากกว่าความสัมพันธ์ของคน มันจึงกลายเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นการสร้างทีม แบ่งทีม แชร์ทีม รวมทีม ขยายทีม ยุบทีม ย้ายคน ย้ายทีม เปลี่ยนที่นั่ง เปลี่ยนผู้บังคับบัญชา เปลี่ยนเป้าหมาย และเปลี่ยนเนื้องาน … โดยไม่ถามความสมัครใจ

การไม่เห็นความสำคัญของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นคือข้อผิดพลาด การคิดว่าจับคนเก่งมาทำงานด้วยกันแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเสมอไปนั้นคือข้อผิดพลาด และการให้ความสำคัญกับงานมากกว่าความสัมพันธ์ของคนนั้นคือข้อผิดพลาด

ความพยายามที่จะคงสภาพโครงสร้างของทีมและกลุ่มคนที่ทำงานด้วยกันเอาไว้คือทางเลือกที่ดีกว่า ความพยายามในการไม่สร้างงานที่มีขนาดใหญ่จนเกินไปคือทางเลือกที่ดีกว่า ความพยายามที่จะแบ่งและฟีดงานให้กับกลุ่มคนที่ทำงานมาด้วยกันอย่างยาวนานนั้นเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และการถามถึงความคิดเห็นและความสมัครใจก่อนการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งนั้นก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่า

แล้วเราในฐานะผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเลือกทางไหน?


ในขณะที่บางคนเรียกกระบวนการในการสลับคนสลับทีมแบบนี้ว่าความยืดหยุ่น … ผมเรียกมันว่าความล้มเหลวในการวางแผน

และเมื่อเราล้มเหลวในการวางแผน … มันก็คือเรากำลังวางแผนที่จะล้มเหลวนั่นเอง 🤡👿💀👽

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *