✍🏼 ฉันตัดสิ่งนี้ออกได้ง่ายแค่ไหน?

คำกริยาส่วนใหญ่จะมีคำที่มีความหมายตรงข้าม เช่น

ใส่เข้าไป (Add) คู่กับ ดึงออกมา (Remove)

เพิ่ม (Increase) คู่กับ ลด (Decrease)

คำเหล่านี้เป็นของคู่กัน คำเหล่านี้ช่วยตักเตือนให้เราคอยมองหาแผนสำรองไว้อยู่เสมอ … ถ้าฉันใส่สิ่งนี้เข้าไปใหม่แล้วผลลัพธ์ไม่ดีอย่างที่คาดหวังฉันดึงมันออกมาได้มั้ย? หรือถ้าฉันเพิ่มอะไรใหม่เข้าไปแล้วเกิดปัญหาฉันลดมันลงได้มั้ย?

หลายครั้งเราใช้เวลาส่วนใหญ่คิดแต่มุมที่เราอยากทำ เรามองหาเรื่องบวกจากสิ่งที่เราอยากเห็น และหลายครั้งเราติดกับดักความสะดวกสบายของการ “เพิ่ม” โดยไม่ได้พิจารณาถึงการ “ลด” ให้ถี่ถ้วน — การเพิ่มนั้นง่ายแต่การลดนั้นยาก

การเพิ่มฟีเจอร์เข้าไปในซอฟต์แวร์นั้นทำง่ายกว่าการดึงฟีเจอร์สักอันนึงออกมากนัก ทุกครั้งที่มีการอัพเกรดเราในฐานะผู้ใช้คาดหวังได้เลยว่าจะเห็นสิ่งใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ไม่ใช่สิ่งเก่าๆจะถูกดึงออกไป

การเพิ่มนั้นง่ายเพราะสิ่งใหม่นั้นยังไม่มีข้อผูกมัด (Dependency) เหมือนอย่างฟีเจอร์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครใช้ เมื่อเปรียบเทียบกับของเก่าที่เราไม่มีทางรู้อย่างละเอียดถึงข้อผูกมัดของมันได้เลย มีใครใช้กี่คน เค้าใช้อย่างไร เค้าชอบมันแค่ไหน เค้าพึ่งพามันมากแค่ไหนในชีวิตประจำวัน … เราอาจจะคิดว่ามันเป็นฟีเจอร์ที่ห่วยแตกแต่ใครบ้างจะกล้าดึงมันออกแบบพละการ

นั่นแหละความยากของการดึงออก

ไม่ใช่แค่ฟีเจอร์ในซอฟต์แวร์แต่หลักการคู่ขนานนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญกับอีกหลายๆเรื่องอย่าง การเพิ่มคนเข้าไปในทีม การอัดโปรโมชั่นอย่างบ้าระห่ำ การขึ้นเงินเดือน หรือแม้แต่การขยายฐานลูกค้า … การเพิ่มนั้นไร้ข้อผูกมัดแต่ถ้าเราจำเป็นต้องลดสิ่งเหล่านั้นลงหละ? มันยากแค่ไหน ผลกระทบเชิงลบจะรุนแรงแค่ไหน? เราคิดพิจารณาถึงมันอย่างถี่ถ้วนหรือไม่?

นี่แหละแผนสำรองที่จะถูกควักออกมาใช้เมื่อแผนแรกไม่เวิร์ค

แล้วแผนแรกหละ? … แผนแรกคือพยายามต่อต้านการใส่เข้าไปและเพิ่มให้ได้มากที่สุดให้ได้นานที่สุด ถ้าเราคิดว่าต้องมีฟีเจอร์นี้เพิ่มเราต้องคิดว่ามันไม่จำเป็น ถ้าเราคิดว่าต้องมีคนเพิ่มเราต้องคิดว่าเท่าที่มีอยู่ก็เพียงพอแล้ว

เป็นไปได้มั้ยที่เราจะคิดว่าการใส่เข้าไปและการเพิ่มคือทางเลือกสุดท้ายจริงๆในการแก้ปัญหาและจัดการกับความท้าทายที่อยู่ตรงหน้าเราวันนี้?

เพราะการเพิ่มนั้นง่ายแต่การลดนั้นยากกว่าหลายเท่านัก ✂️ 🗡 🪓 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *