✍🏼 โปรดักท์เมเนเจอร์กับหน้าที่หลัก 4 ข้อ

หน้าที่ความรับผิดชอบของโปรดักท์ เมเนเจอร์ก็ตรงไปตรงมาครับ

“ประเมินโอกาสและกำหนดแนวทางว่าจะสร้างโปรดักท์อะไรขึ้นมาให้ลูกค้า”

ฟังดูง่ายแต่จริงๆยากมากๆ

ทุกธุรกิจต้องพึ่งพาลูกค้า สิ่งที่ลูกค้าเลือกซื้อหรือเลือกใช้ก็คือโปรดักท์ของเรา โปรดักท์คือผลลัพธ์จากสิ่งที่ทีมเราสร้างขึ้นมา และโปรดักท์เมเนเจอร์คือผู้รับผิดชอบว่าทีมเราจะสร้างอะไรขึ้นมา — ความสัมพันธ์แบบลูกโซ่ที่กำหนดชะตาชีวิตของบริษัทได้เลย

เมื่อมองให้ลึกลงไปในรายละเอียดอีกนิดจะเห็นว่า ทุกคนหวังพึ่งเรา ต้องการความช่วยเหลือจากเรา ต้องการความเป็นผู้นำจากเรา … พวกเขาคาดหวังว่าเราในฐานะโปรดักท์ เมเนเจอร์มืออาชีพจะนำ 4 ข้อนี้มาสู่ทีม


👤 ความรู้ในเรื่องลูกค้า

ถ้าเราไม่รู้ดีที่สุด … แล้วใครจะรู้? มันคือภาระหลักของเราเลยที่ต้องเป็นคนที่เข้าใจผู้ใช้และลูกค้าอย่างดีที่สุด อะไรคือปัญหา ความเจ็บปวด ความต้องการ แรงกระตุ้น ของพวกเขา พวกเขากำลังคิดอะไรอยู่ในตอนนี้และจะคิดอะไรต่อไปในอนาคตระยะใกล้และไกล พวกเขาทำงานอย่างไรและพวกเขามีกระบวนการเลือกซื้อโปรดักท์อย่างไร

โปรดักท์ เมเนเจอร์จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านลูกค้าที่เก่งที่สุด ไม่ใช่แค่ในทีมหรือบริษัทตัวเอง แต่ต้องเก่งที่สุดในอุตสาหกรรมเลย

📊 ความรู้ในเรื่องข้อมูล

ทุกวันนี้โปรดักท์ เมเนเจอร์ได้รับการคาดหวังว่าต้องสามารถจัดการงานที่เกี่ยวกับข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงลึกได้ (Analytics) … ซึ่งเราก็ต้องรู้และมีทักษะเรื่องพวกนี้มากทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจลูกค้าและผู้ใช้ได้ลึกซึ้งกว่าเดิม พวกเขาใช้งานโปรดักท์ของเราอย่างไร อะไรที่ใช้บ่อย อะไรที่ไม่ค่อยใช้ รูปแบบการทำงานเป็นอย่างไร ตรงกับที่เราคาดหวังไว้หรือไม่

โปรดักท์ เมเนเจอร์อาจจะไม่ใช่คนที่เข้าไปขุดคุ้ย (เขียนโค๊ด) เพื่อดึงข้อมูลเหล่านี้ขึ้นมาวิเคราะห์ด้วยตัวเอง เราอาจจะมีผู้ช่วยที่ทำเรื่องเหล่านี้ให้ แต่เราต้องเป็นคนรับผิดชอบในการแปลความจากข้อมูลที่อยู่ตรงหน้า เราไม่สามารถมอบหมายงานนี้ให้คนอื่นทำได้ … เราคือคนรับผิดชอบสูงสุด

💰 ความรู้ในเรื่องธุรกิจ

โปรดักท์ที่ดีที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่โปรดักท์ที่ลูกค้ารักแต่ต้องเป็นโปรดักท์ที่ผลักดันธุรกิจของเราไปด้วยพร้อมๆกัน โปรดักท์ เมเนเจอร์ต้องเข้าใจเรื่องธุรกิจของตัวเองดีที่สุด (ที่สุดของที่สุด) เราต้องรู้จักคนที่มีส่วนร่วมในระบบนิเวศน์ทางธุรกิจของเรา ลูกค้า ทีมงาน (ซีอีโอ ผู้บริหาร การเงิน การบัญชี การตลาด การขาย กฎหมาย บุคคล ดูแลลูกค้า พัฒนาธุรกิจ และอื่นๆ) พาร์ทเนอร์ เวนเดอร์ คู่แข่ง หน่วยงานอิสระ สังคม คนทั่วไป เราต้องเข้าใจความเชื่อมโยงกันของแต่ละส่วน เราต้องเข้าใจเงื่อนไขข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจของเรา

เพราะความสำเร็จของโปรดักท์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราไม่สามารถนำขบวนคนทุกฝ่ายเหล่านี้ไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน เป้าหมายที่เราเป็นคนกำหนด นำเสนอ และให้คำสัญญาไว้

🌏 ความรู้ในเรื่องตลาดและอุตสาหกรรม

เราเข้าใจพื้นที่ที่เรากำลังแข่งขันอยู่ดีแค่ไหนแล้ว? ไม่ใช่แค่คู่แข่ง แต่รวมถึงเทคโนโลยี พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ความคาดหวังใหม่ๆที่กำลังก่อตัวขึ้น ถ้ายัง … เรามีงานหนักที่ต้องทำอีกมาก

เพราะเกือบทุกตลาดจะมีคู่แข่งที่น่ากลัวรอเราอยู่ การแย่งชิงลูกค้าจากบริษัทอื่นไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อนแล้ว ด้วยการมีฟีเจอร์ที่ดีกว่าไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีในการสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าเปลี่ยนใจ เราต้องการอะไรที่ดีกว่าอย่างยั่งยืน และนั่นหมายถึงการเข้าใจทิศทางของตลาดและเตรียมตัวเพื่ออนาคตไกลๆอย่างน้อย 3–5 ปีตั้งแต่วันนี้


ทั้ง 4 ข้อนี้คือความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับคนที่ต้องการเป็นโปรดักท์ เมเนเจอร์มืออาชีพ ลืมเรื่องอื่นๆไปก่อนได้เลย โปรดักท์ แบ็คล็อก, สปริ้นท์, สโคป, เอ็มวีพี, ยูเอ็กซ์, ยูไอ … มันไม่ใช่สาระสำคัญในการเริ่มต้นงานนี้เลยแม้แต่นิดเดียวครับ

ถ้าเราไม่สามารถทุ่มเทเพื่อศึกษาหาความรู้และรับผิดชอบใน 4 เรื่องนี้ได้ก่อน ยากมากที่เราจะเป็นโปรดักท์ เมเนเจอร์มืออาชีพที่มีความสามารถและได้รับความเคารพจากคนรอบข้างอย่างแท้จริง

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกด้วยว่า “ความจริงก็คือโปรดักท์ เมเนเจอร์ต้องเป็นคนที่เก่งที่สุดในบริษัท” — เราเป็นแบบนั้นรึยังครับ? 🏆


ผมเขียนบทความนี้โดยอ้างอิงจากหนังสือชื่อ INSPIRED — HOW TO CREATE TECH PRODUCTS CUSTOMERS LOVE โดย Marty Cagan ครับ เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีสำหรับโปรดักท์ เมเนเจอร์นะ 📖

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *