✍🏼 สัญชาตญาณที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของสตาร์ทอัพ (Startup)

นับตั้งแต่วินาทีแรกที่เราคิดจะทำบริษัทสตาร์ตอัพ (Startup) เราเริ่มต้นการใช้สัญชาตญาณของตัวเองตั้งแต่นั้น คำว่าความรู้สึกนั้นฟังดูเหมือนจับต้องไม่ได้ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์แต่เป็นเรื่องของอารมณ์ แต่จากประสบการณ์ของตัวเองผมบอกได้เลยว่าคนที่จะเลือกใช้ชีวิตในเส้นทางนี้ต้องฝึกหัดที่จะเชื่อความรู้สึกของตัวเองมากกว่าอย่างอื่น

ในอีกมุมหนึ่ง ใครหลายๆคนที่มองเข้ามาจากข้างนอกอาจจะเห็นว่าเราโง่ เราบ้า เราเพ้อเจ้อ และเราดื้อ แต่ทั้งหมดนั้นไม่ใช่อย่างที่พวกเขาเห็น การตัดสินใจทุกอย่างของเราในช่วงแรกของชีวิตบริษัทสตาร์ทอัพเกินครึ่งหนึ่งจะมาจากสัญชาตญาณและความรู้สึกของตัวเราเอง

โอปรา วินฟรีย์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“Every right decision I’ve made — every right decision I’ve ever made — has come from my gut.”

“ทุกการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ฉันทำ — ทุกการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ฉันเคยทำ มันมาจากสัญชาตญาณของฉันทั้งสิ้น”

1. การเลือกธุรกิจที่จะทำ

ข้อแรกเลย … เราจะทำธุรกิจอะไร? เราจะทำโปรดักท์อะไร? ไม่มีใครให้คำแนะนำเราได้ตั้งแต่วันแรกครับ สิ่งที่เป็นคือมันต้องมาจากข้างใน มันต้องมาจากตัวเอง เราต้องการอะไร? เราชอบอะไร? เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดขึ้นกับโลกใบนี้?

ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่จำเป็นว่าเราต้องคิดคนเดียวหรือหาคำตอบคนเดียว ไอเดีย ความรู้ ความสนใจเกิดขึ้นได้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนที่เรารู้จัก กับคนที่เรานับถือแต่ท้ายที่สุดแล้วเราต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง

ยกตัวอย่างจากตัวเอง ผมเริ่มต้นทำบริษัทสตาร์ทอัพมาก็เกือบ 5 ปีแล้ว ย้อนหลังกลับไปตอนนั้นที่ยังเป็นแค่บริษัทซอฟต์แวร์เฮ้าส์รับงานเขียนโค๊ดจากเมืองนอกมาทำ แต่ด้วยความตั้งใจอย่างยิ่งว่าอยากทำระบบเป็นของตัวเอง อยากมีโปรดักท์ที่สร้างและขายเอง ผมและทีมงานเริ่มต้นจึงเปิดหูเปิดตามองหาโอกาสที่จะทำแบบนั้นอยู่ตลอดเวลา นี่คือความเป็นไปได้ในตอนนั้น

  1. ระบบสมาชิกและคูปองสำหรับร้านสปา
  2. ระบบทำเรซูเม่แบบใหม่
  3. ระบบคอลล์เซ็นเตอร์ที่วิเคราะห์ภาพจากหน้าจอและเสียงคนพูดได้
  4. ระบบซอฟต์แวร์สำหรับตู้จ่ายยาที่เป็นระบบเครื่องกลขนาดใหญ่
  5. ระบบจองตั๋วเครื่องบินสำหรับบริษัททัวร์

(จำได้ประมาณนี้ จริงๆคงมีเยอะกว่านี้อีกมาก) ตอนนั้นแต่ละไอเดียก็ดูมีศักยภาพในตัวมันเอง แต่ท้ายที่สุดแล้วผมเลือกอันไหน? ไม่เลยสักอัน ทำไม? ตอบไม่ได้เหมือนกัน อาจจะเพราะผมมาเจอไอเดียสุดท้ายที่กลายมาเป็นบริษัทและโปรดักท์อย่างทุกวันนี้ พูดง่ายๆว่ามันคือระบบบริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Tracking) ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆที่ไม่ใช่บาร์โค๊ดและคิวอาร์โค๊ด

ผมตัดสินใจด้วยอะไร? ด้วยการทำรีเสิร์จอย่างละเอียด? ด้วยการคุยกับที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้หลายคน? ไม่เลย ผมแค่คุยกับผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอีกหนึ่งคนแล้วก็เห็นร่วมกันว่า “มันน่าจะดี” แค่นั้นเอง

เราต้องค้นหาให้ได้ว่า “มันน่าจะดี” ของเราคืออะไร ด้วยสัญชาตญาณของตัวเอง ผมขออนุญาตแนะนำว่าเมื่อถึงจุดที่ต้องตัดสินใจแล้วอย่าเชื่อคนอื่นแบบไม่คิดเอง อย่ากลัวที่จะตัดสินใจตามความรู้สึกของตัวเอง … จำไว้ว่าเรากำลังทำบริษัทสตาร์ทอัพด้วยตัวเองเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อคนอื่น ดังนั้นเราจะเป็นคนเดียวที่รู้ดีที่สุดว่าอะไรที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง

2. การเลือกที่จะตอบตกลงหรือปฏิเสธ

หลังจากที่เลือกสิ่งที่อยากจะทำได้แล้ว เมื่อเราเริ่มลงมือปฏิบัติการสร้างทุกสิ่งขึ้นมา ระหว่างทางเราจะต้องเจอกับการตัดสินใจนับครั้งไม่ถ้วน ทุกเรื่อง ทุกมุม ยากบ้างง่ายบ้าง และการตัดสินใจเหล่านั้นต้องการการเข้าใจตัวเองและการฟังเสียงจากข้างในของตัวเราเอง

ผมขอยกตัวอย่างจากตัวเองสองเรื่องแบบนี้ เรื่องแรกคือเรากล้าที่จะปฏิเสธโอกาสที่ดูเหมือนจะดีแต่ … ความรู้สึกมันไม่ใช่มั้ย?

ย้อนหลังไปเมื่อสองปีที่แล้ว ผมทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์รายใหญ่รายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เพื่อพัฒนาระบบให้โรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ (ขอสงวนนาม) ในระหว่างที่เรากำลังทดสอบถึงความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาช่วยแก้ปัญหา หัวหน้าใหญ่ของโรงพยาบาลต้องการแก้ไขสเปคของระบบใหม่ทั้งหมดเพื่อให้มันทำงานแบบอัตโนมัติ 100% ด้วยการการันตีผลลัพธ์ที่แม่นยำ 100%

ตั้งแต่ตอนนั้นผมและทีมงานก็รู้สึกแล้วว่า “มันยาก ยากเกินไป” — พวกเราที่ทำงานในวงการซอตฟ์แวร์ฮาร์ดแวร์จะรู้ดีว่าในทางวิศวกรรมไม่มีใครกล้าการันตีผลลัพธ์ 100% อยู่แล้วเพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผิดพลาดมันมีมากมายมหาศาลเกินที่จะควบคุมได้

แต่ความรู้สึกของผมบอกว่า “โอเค เราน่าจะลองดูสักตั้งว่ามันจะไหวมั้ย” พวกผมก็ปรับแก้โปรโตไทป์เพื่อทดลองให้เห็นกันไปเลย …​ หลังจากพยายามอยู่ประมาณ 2 เดือนเราก็ได้ข้อสรุปออกมาว่า “ระบบพอจะทำงานได้แต่การันตีผล 100% ไม่ได้ ระบบมันเปราะบางเกินไปในสภาพการใช้งานจริง”

ด้วยความที่พาร์ทเนอร์ของผมอยากได้งานนี้มาก พวกเขาเลือกที่จะไม่ยอมแพ้ ยังอยากไปต่อ แต่พวกผม? ความรู้สึกมันบอกว่า “นี่ไม่ใช่แล้วหละ” ถึงแม้งานโดยรวมจะ ดี มีโอกาสที่จะได้ลูกค้าเป็นโรงพยาบาลระดับโลก แถมได้เงินค่าระบบอีกหลายล้าน แต่มันต้องแลกมาด้วยการโกหกลูกค้าว่าเรา “จะ” ทำตามความต้องการของพวกเขาได้ มันต้องแลกมาด้วยการรับงานรับเงินวันแรกแต่ส่งงานวันสุดท้ายไม่ได้ มันต้องแลกมาด้วยการขายวิญญาณเพื่อเงินระยะสั้นที่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว

พวกผมตัดสินใจขอถอนตัวจากโครงการนี้ แล้วต้องจำใจปล่อยให้พาร์ทเนอร์ลุยต่อไปฝ่ายเดียวโดยไม่ได้ผิดใจอะไรกัน กับลูกค้าเองผมก็ชี้แจงไปตามตรงว่า “ผมทำไม่ได้ครับ” — ผมตัดสินใจที่จะปฏิเสธงานนี้ด้วยความรู้สึก

แต่ผมไม่ได้ยกเลิกการทำโปรดักท์นี้ … ผมไปต่อ ผมทำต่อในแนวทางที่ผมเชื่อว่ามันดีกว่า ด้วยหลักการและการออกแบบที่มาจากทีมของผมเอง — ผมยังเชื่อลึกๆว่ามันไปได้เพียงแค่ที่ผ่านมาลูกค้ายังไม่เข้าใจข้อจำกัดของเทคโนโลยีดีพอ

ในตอนนั้นผมค่อนข้างรู้สึกดีกับการตัดสินใจครั้งนี้ของตัวเอง เพราะมันมาจากตัวเองจริงๆ เพราะเราเข้าใจว่าเรายืนหยัดเพื่ออะไร เราต้องการอะไร เราอยากจะสื่ออะไรออกไปให้สังคมภายนอกได้รับรู้ … ทุกคนในทีมก็แฮปปี้กับการตัดสินใจนี้ร่วมกัน

ผลลัพธ์? เรื่องราวที่เกิดขึ้นตามมาคือผ่านไปหลังจากนั้นสามเดือน โรงพยาบาลโทรศัพท์มาบอกผมว่า “เราจะไม่ไปต่อกับพาร์ทเนอร์รายนั้นแล้วเพราะทำตามที่วางสเปคไว้ไม่ได้” โรงพยาบาลอยากให้ผมกลับเข้าไปช่วยทำระบบนี้ให้ และตอนนี้ผ่านมาอีกประมาณ 1 ปี …​ ผมก็ส่งมอบระบบที่เกิดจากการคิดและการออกแบบของทีมผมเองให้โรงพยาบาลใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ ระบบที่ดีพอที่จะแก้ปัญหาให้พวกเขาได้อย่างประสบความสำเร็จ ระบบที่ไม่ต้องใช้เทคนิคอะไรที่เหนือชั้นที่เกินขีดความสามารถของเทคโนโลยี ระบบที่ “ดีพอ” ที่จะทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องแฮปปี้

ผมตัดสินใจปฏิเสธงานตอนแรกเพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ผมตัดสินใจทำระบบนี้ต่อไปด้วยแนวทางของตัวเองเพราะมันรู้สึกว่าใช่ … ผมรับงานนี้อีกครั้งเมื่อโอกาสที่สองมาถึงเพราะ …​ แน่นอนเลยว่ามันใช่

เราทำสตาร์ทอัพ เราต้องตัดสินใจทุกวัน ทุกชั่วโมง ตลอดเวลา … เราต้องเรียนรู้ที่จะเชื่อตัวเอง เราต้องกล้าที่จะทำตามใจตามความรู้สึกของตัวเองครับ ไม่มีทางที่สตาร์ทอัพจะเก็บข้อมูลหรือรีเสิร์จอะไรได้ครบถ้วนทุกมุม (ไม่มีใครในโลกทำได้) ถ้าเราอยากเริ่มต้นอะไรสักอย่าง เราต้องกล้าตัดสินใจด้วยความรู้สึก

ลองมองว่าสตาร์ทอัพของเราเหมือนเพลง … เราจะชอบฟังเพลงแนวไหน เราชอบเพลงไหน …​ มันมาจากอะไร? เราต้องรีเสิร์จก่อนมั้ยว่าศิลปินคนนี้มีประวัติเป็นมายังไง เพลงนี้ใครแต่ง เพลงนี้มีคนชอบเยอะแล้วรึยัง เพลงนี้จะดูเชยมั้ยในอีก 5 ปีข้างหน้า? ไม่ขนาดนั้นหรอก เราชอบเพราะเราชอบ เราชอบเพราะมันโดนใจ เราชอบเพราะมันเหมาะกับตัวเอง

เราเลือกเพราะความรู้สึกของตัวเองและเพื่อตัวเอง การตัดสินใจในทุกช่วงของสตาร์ทอัพก็เหมือนการที่เราเลือกจะชอบเพลงสักเพลงนั่นแหละ 🎧 🎶

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *