✍🏼 การคืนทุนทางเทคนิค

นึกย้อนไปสมัยยังเป็นโปรแกรมเมอร์ ผมเคยเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ยักษ์ที่เปลี่ยนฟร้อนท์เอ็นด์ทั้งตัวจากวินโดวส์แอพ (Visual C++) มาเป็นเวปแอพ (Java) … งานช้างอย่างแท้จริงเพราะรีไควเม้นต์สั้นๆจากเบื้องบนคือ

“เปลี่ยนยูไอเป็นเวปและต้องทำงานทุกอย่างได้ครบถ้วนเหมือนของเดิม”

สั้นๆแต่ยากมากและเยอะมาก … และแน่นอนว่าดีเลย์ จากแผนหนึ่งปีกลายเป็นเกือบสองปี

ในเวลานั้นผมไม่คิดอะไรมากครับ เปลี่ยนก็เปลี่ยน น่าสนุกดีได้ลองอะไรใหม่ๆบ้าง

ในเวลานี้กลับมาคิดถึงมันในมุมที่ว่า “ความคุ้มค่าอยู่ที่ไหน?” ในเมื่อของใหม่ต้องทำงานได้เหมือนของเก่า ทำไมต้องมีของใหม่ ทำไมไม่ใช้ของเก่า … ประโยชน์ที่เด่นชัดข้อเดียวที่ผมหาได้คือเวปช่วยลดขั้นตอนการติดตั้งไปเพราะมันเข้าถึงได้จากทุกเครื่องที่มีบราวเซอร์ แถมให้อีกข้อก็คือการซัพพอร์ตก็จะง่ายขึ้นเพราะทุกอย่างรวมศูนย์มาไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ตัวเดียว

แต่มันคุ้มค่าจริงหรอ?

  • เวลาที่หมดไปกับการอบรมและการเรียนรู้
  • เวลาที่หมดไปกับการลองผิดลองถูก
  • เวลาที่หมดไปกับการประชุม
  • เวลาที่โค๊ดและเทส
  • เวลาที่หมดไปกับดารทำเอกสารและเทรนนิ่งใหม่ทั้งหมด
  • เงินที่ลงทุนไปกับเครื่องมือชุดใหม่
  • โอกาสที่เสียไปจากการที่โปรเจกต์ดีเลย์

จุดสมดุลของการลงทุนกับกำไรดูไม่ชัดเจนเลยสำหรับผม … แต่ผู้บริหารเค้าคงมองเห็นอะไรมากกว่าเด็กน้อยอย่างผมมากนัก งานนี้ก็เกิดขึ้นและจบลงไปเรียบร้อยแล้ว


ถามหัวหน้าทีมบริหารดูสิว่า “พี่ครับ ตอนนี้เทคโนโลยีนี้มาแรง ผมอยากเปลี่ยนของเก่าเรามาใช้อันนี้อะครับ”

คำถามที่เราจะได้กลับมาคือ “ทำแล้วจะได้อะไร?”

เราก็เตรียมมาแล้วหละ “มันจะเร็วขึ้น แรงขึ้น กว้างขึ้น สวยขึ้น …”

และคำตัดสินสุดท้ายที่เราจะได้คือ “ไม่”

เพราะหนึ่งของเก่ามันทำงานได้อยู่แล้ว สองการสร้างของใหม่ไม่ได้การันตีว่าจะสำเร็จโอกาสที่จะล้มเหลวยังมีสูงอยู่มาก และสามมันไม่มีผลประโยชน์โดยตรงกับเรื่องของรายรับและผลกำไร … จบ

แน่หละ ของเก่ายังทำงานได้อยู่เราจะอยากหาเรื่องใส่ตัวขนาดนี้ไปเพื่ออะไร? (นี่คือต้นกำเนิดของคำว่าเลกาซีซิสเต็ม — ไม่ ผมไม่ได้บอกว่าเลกาซีซิสเต็มต้องเป็นระบบที่แย่หรือล้าสมัยเสมอไปหรอกนะ)

จุดสมดุลของการลงทุนกับกำไรดูไม่ดีเลยในกรณีนี้ … ในกรณีที่ทำของใหม่มาแทนของเก่าเพราะการลงทุนและความเสี่ยงมันจะเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่า … ความเสี่ยงที่ว่าของใหม่จะไม่สามารถแทนของเก่าได้อย่างสมบูรณ์ และเมื่อของใหม่ไม่เวิร์คและของเก่าไม่หลงเหลืออยู่แล้ว … หายนะ


ลองใหม่ ลองแบบนี้

“พี่ครับ ผมคิดว่าเราน่าจะลองสร้างแอพตัวใหม่ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใหม่ของเรานะครับ ผมไปรีเสิร์ชมาคร่าวๆแล้วครับ ตอนนี้เทคโนโลยีนี้มาแรง น่าจะช่วยให้เราพัฒนาระบบได้เร็วขึ้นอะครับ”

คำถามที่เราจะได้กลับมาคือ “ทำแล้วจะได้อะไร?”

เราก็เตรียมมาแล้วหละ “นี่ครับ แผนธุรกิจคร่าวๆ แล้วก็โร้ดแมปของโปรดักท์ใหม่ครับ”

และคำตอบที่เราจะได้กลับมาอาจจะเป็น “อืม น่าสนใจ … ไหนว่าต่อไปสิ …”

ท้ายที่สุดของธุรกิจคือเรื่องรายได้และผลกำไรครับ ไม่มีกำไรก็ไม่มีธุรกิจ มันไม่ใช่เรื่องผิดถ้าผู้บริหารสูงสุดจะมองความคุ้มค่าเรื่องเงินเป็นปัจจัยที่สำคัย(ที่สุด)ในการตัดสินใจลงทุนทำอะไรสักเรื่องนึง

หน้าที่ของเราคือสร้างจุดสมดุลให้เด่นชัดที่สุดให้ต่ำที่สุด และผมมองว่าการแก้ของเก่าให้ทำงานได้เหมือนของใหม่นั้นไม่ใช่ตัวเลือกแรก

การสร้างของใหม่จากของใหม่น่าสนใจกว่าครับเพราะต้นทุนต่ำกว่า ความเสี่ยงน้อยกว่าในเมื่อแต่ก่อนไม่เคยมีอะไร … อย่างเลวร้ายสุดๆก็แค่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม ฮ่าๆ

ขอแค่ถ้าได้โอกาสได้สร้างของใหม่แล้ว อย่าเอาอะไรเก่าๆเข้ามาเป็นแกนหลักก็พอ


เขียนยาวมาถึงตรงนี้แล้วก็ทำให้นึกถึงบริษัทระดับโลกอย่างกูเกิ้ล เฟสบุ๊ก อะเมซอน แอปเปิ้ล … พวกเค้ามีเลกาซีซิสเต็มเยอะแค่ไหน เค้าจัดการยังไงกับมัน ถ้าเค้าอยากลองของใหม่ (หรือแม้แต่สร้างของใหม่ขึ้นมาเอง) เค้ามีกระบวนการตัดสินใจเรื่องพวกนี้ยังไง … น่าสนใจนะ 🙂

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *