✍🏼 รวบรวม vs. ขุดค้น

ว่ากันว่ามนุษย์เราเข้าไม่ถึงความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง ถามว่าคุณเจอปัญหาอะไรตอนนี้? หลายคนตอบได้ อธิบายเรื่องราวได้ละเอียดและยาวเหยียด

เมื่อถามต่อว่าแล้วคุณจะทำยังไงกับปัญหานี้หละ? ส่วนน้อยตอบได้แบบชัดเจน ส่วนใหญ่อ้ำอึ้งตอบได้กว้างๆ กลางๆ เป็นนามธรรมและจับต้องได้ยาก — อยากได้ระบบเร็วๆและเที่ยงตรง อยากได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น อยากได้โอกาสเข้าอบรม (คอร์สอะไรก็ยังไม่รู้) จุดจุดจุด

ถ้าเราเชื่อในเรื่องนี้ มันก็น่าแปลกที่เมื่อเริ่มโปรเจกต์ เรามักพูดถึงคำว่า “การเก็บรวบรวมความต้องการของผู้ใช้” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “Requirement Gathering”

คำว่า “Gather — รวบรวม” มีความหมายเป็นนัยว่าการกวาดต้อนสิ่งที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดมารวมให้เป็นกลุ่มก้อน (หรือเป็นเอกสาร) โดยที่ไม่ได้เพิ่มคุณค่าอะไรให้มัน

  • หัวหน้าทีมอยากได้แบบนี้
  • ลูกน้องคนที่หนึ่งอยากได้แบบนั้น
  • เด็กใหม่มีความต้องการที่ต่างไป
  • ผู้บริหารอยากเห็นรายงานตัวเลขแบบนู้น

การรวบรวมแบบนี้มันง่าย (ขอให้มีเวลาเข้าประชุมซักหน่อยก็พอ) เหมือนการกวาดใบไม้ที่หล่นอยู่บนพื้นสนามหญ้า … ไม่ถูกต้องดีงามสักเท่าไร


เปรียบเทียบใบไม้กับทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าอื่น … อยากได้เพชรพลอยต้องขุดแล้วเจียระไน อยากได้น้ำมันดิบต้องขุดแล้วกลั่น อยากสร้างซอฟต์แวร์ที่แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงก็ต้องขุดแล้วสกัด

คำว่า “Dig — ขุด” ดูจะเข้าท่ากว่าในมุมมองของผม เพราะมันมีความหมายเป็นนัยว่าของดีไม่ได้มาจากพื้นผิวหรือคำพูดหรือมีตติ้งมินิทหรือในเอกสาร … ของดีมันอยู่ลึกลงไปในเปลือกนอกพวกนั้น

หน้าที่ของเราไม่ใช่รวบรวมแต่ต้องขุด … สัญญาณอันดีที่บอกว่าเรากำลังขุดคือ

  • ก่อนจะสนใจทางแก้ เราต้องสนใจปัญหาก่อน เราขุดหาปัญหาเป็นอันดับแรก
  • เรารู้เป้าหมายก่อนว่าจะขุดที่ไหน … ปัญหาอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร ตอนไหน
  • เราไม่เชื่อในทันทีกับสิ่งที่ได้ยินมา สิ่งที่อ่านจากเอกสาร รวมไปถึงสิ่งที่เห็นจากพฤติกรรมผู้ใช้ … มันอาจจะเป็นแค่เปลือกนอก
  • เราไม่สรุปรีไควเม้นต์ออกมาตามความต้องการที่ลูกค้าบอก อันนี้สำคัญนะ ฮ่าๆ ถ้าเราทำทุกอย่างตามที่เค้าบอกก็จบเลย เราไม่ขุด เราแค่รวบรวม
  • เราใช้เวลาอยู่กับตัวเองและทีมงานไม่น้อยไปกว่าอยู่กับลูกค้าและผู้ใช้ แปลว่าอะไร? แปลว่าถ้าเราจะขุด เราต้องขุดในที่เงียบๆ ใช้เวลาคิดและพิจารณาข้อมูลให้ลึกซึ้งที่สุด มันทำไม่ได้หรอกถ้าวันๆเอาแต่อยู่ในห้องประชุม

นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราเปลี่ยนจากคำว่า Requirement Gathering มาเป็นคำว่า Requirement Digging กันดีกว่า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *