“เรามีหน้าที่ทำตามความต้องการของลูกค้า สร้างสิ่งที่ลูกค้าอยากได้” — เป็นประโยคที่คุ้นหูสำหรับคนที่ทำงานในวงการพัฒนาซอฟต์แวร์ มันเป็นประโยคที่ทำให้งานเราต้องเริ่มต้นด้วยคำว่ารีไควเม้นต์ (ความต้องการ)
มันเป็นประโยคที่ถูกต้องมั้ย? แน่นอนมันไม่ผิดแต่ก็ไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ในความคิดผมเพราะบางครั้งลูกค้าก็ไม่รู้แน่ชัดว่าตัวเองต้องการอะไร และในอีกหลายครั้งที่ลูกค้ามีมุมมองที่จำกัดว่าเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ทำอะไรได้บ้าง (ก่อนมีไอโฟนมีซักกี่คนจะจินตนาการได้ว่า ‘อยากได้ไอโฟน’) — ผมเชื่อว่าหน้าที่อีกประการหนึ่งของเราคือเติมเต็มจุดที่ขาดนี้ … ทำยังไง?
ผมเริ่มต้นด้วยปัญหาไม่ใช่รีไควเม้นต์ … ลูกค้าแทบทุกคนรู้ว่าตัวเองมีปัญหาอะไร นั่นเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้มากที่สุดที่ผมมีตอนนี้
“ผมมีปัญหาเรื่องการจัดการข้าวของในออฟฟิสอะครับ มีอุปกรณ์นั่นนี่กี่ชิ้น อยู่ตรงไหนบ้างไม่เคยรู้เลย เวลาไล่นับไล่ตรวจเช็คก็ใช้เวลานานมากใช้แรงงานคนเยอะ แถมของหายก็ไม่รู้ตัวอีก”
จากข้อมูลข้างต้นผมพยายามคิดถึงการแก้ปัญหาในอุดมคติ อะไรจะทำให้การจัดการเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดที่จะเป็นไปได้ ณ จุดนี้ผมยังไม่สนใจนะว่ามันโอเว่อร์ไปมั้ย มันเกินความต้องการของลูกค้ามั้ย … ในเมื่อลูกค้ายังไม่แน่ใจว่าตัวเองอยากได้อะไรเค้าจะรู้ได้ไงว่าสิ่งที่ผมคิดอยู่มันคืออะไรที่ถูกใจเค้ารึเปล่า
การออกแบบประสบการณ์ลูกค้า (UX) จะเกิดขึ้นพร้อมกับกระบวนการทำงานที่จะเปลี่ยนไป (New workflow) ทุกขั้นตอนสมองผมจะจับจ้องไปที่สองเรื่อง (1) มันแก้ปัญหาได้จริงมั้ย? (2) มันง่ายกว่านี้ได้อีกมั้ย? จนมันเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
มีบ้างบางครั้งที่ผมหาข้อมูลว่าคนอื่นเค้าแก้ปัญหานี้กันยังไง ในกรณีที่เป็น Asset Tracking System แบบนี้มันมีตัวอย่างมากมายในอินเตอร์เน็ต ผมหาประโยชน์จากมันได้พอสมควรในทางตรงข้าม ผมดูตัวอย่างไม่ใช่เพื่อเลียนแบบแต่เพื่อหาทางหลีกให้ห่างที่สุด ประเด็นสำคัญที่สุดของบทความนี้อยู่ที่นี่
“Build the first version of a new thing, not the tenth version of boring-existing things.”
ทุกครั้งที่ผมเริ่มต้นทำงาน หลักการหนึ่งที่ผมยึดไว้เสมอคือ “ผมต้องการสร้างเวอร์ชั่นแรกของสิ่งใหม่ ไม่ใช่เวอร์ชั่นที่สิบของอะไรที่น่าเบื่อและมีอยู่แล้ว” ถ้าผมต้องทำ Asset Tracking System จริงๆ อะไรที่ดูแล้วใหม่สด ไม่น่าเบื่อ เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของคนทั่วไปและแก้ปัญหาที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าของเก่าดั้งเดิม — ในเมื่อเราเป็นผู้สร้าง นั่นควรเป้าหมาย นั่นควรเป็นหน้าที่ที่ต้องแบกรับ นั่นคือความท้าทายและในเวลาเดียวกันก็เป็นโอกาสที่เราจะได้พัฒนาตัวเองพร้อมกับสนุกกับงานไปพร้อมๆกัน ย้ำอีกครั้ง …
“Our job is to build the first version of a new thing, not the tenth version of boring-existing things.”
Pingback: ✍🏼 เช็คลิสต์สำหรับสตาร์ตอัพ (Startup) ไอเดีย – ปิโยรส – ธุรกิจ, สตาร์ทอัพ, ซอฟต์แวร์