✍🏼 ทำไมทุกคนควรออกแบบยูไอ?

ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการออกแบบและผมมีความรู้สึกสนุกกับมันมาก จากคนที่เคยเป็นดีเวลลอปเปอร์มาก่อน ผมเข้าใจมากขึ้นเลยว่าการออกแบบยูไอรวมถึงเวิร์คโฟลของซอฟท์แวร์เรานั้นช่วยให้ผมได้ความรู้และทักษะมากขึ้นขนาดไหน

ผมเคยทำงานอยู่ในช่วงที่นักออกแบบ (ดีไซเนอร์) นั้นเป็นส่วนที่ใครๆก็ไม่ให้ความสำคัญ นั่นย้อนไปซักสิบกว่าปีมาแล้วมั้ง ตอนนั้นใครๆก็คิดว่างานออกแบบเป็นงานง่ายๆ ใครก็ทำได้ ว่าแล้วก็ลูกทุ่งลุยถั่วกันเองเลยครับในทีม นำโดยเหล่าดีเวลลอปเปอร์นี่แหละ เขียนโค๊ดด้วยออกแบบหน้าจอยูไอด้วย หูยยย เละเทะ ฮ่าๆ

อดีตใกล้เข้ามานิดนึง สามสี่ปีที่ผ่านมามั้ง คำว่า User Experience เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในโลกซอฟต์แวร์ ผู้หลักผู้ใหญ่บางคนมีความคิดที่ว่าการออกแบบต้องการทักษะเฉพาะทางที่ดีเวลลอปเปอร์ไม่มี!!! งานนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ว่าแล้วก็ตั้งทีมงานนักออกแบบมาทำงานร่วมกับทีม ตอนนี้หน้าตาดีสวยงามตามสมัยนิยม แต่งานเสร็จช้า ฮ่าๆๆ ทุกอย่างคอขวดอยู่ที่ทีมนักออกแบบทั้งหมด จนดีเวลลอปเปอร์รู้สึกเหมือนถูกมัดมือมัดเท้า จะออกแบบเองก็ไม่ได้ (เค้าหาว่าเป็นพวกไร้ทักษะเรื่องการออกแบบ) ไอ้ครั้นจะรองานจากทีมนั้นก็ช้าเหลือเกิน … จนดีเวลลอปเปอร์หลายคนเริ่มบ่นกับตัวเองว่า “ทำไมพวกดีไซเนอร์ไม่หัดเขียนโค๊ดมั่งวะ แค่เทมเพลท ซีเอสเอส (CSS) หรือจาว่าสคริ้ปท์ (Javascript) ก็ยังดี นี่ทำแต่รูปส่งมา”

ผมรู้สึกว่าการตั้งคำถามแบบนี้มันไม่ยุติธรรมนะ … ถ้าผมเป็นดีไซเนอร์ผมก็คงจะถามบ้างว่า “แล้วทำไมพวกแกไม่หัดออกแบบให้มันดีๆมั่งวะ” … เออ มีประเด็น ผมว่าดีเวลลอปเปอร์อย่างเราทำได้และควรทำด้วยเพราะ

มันช่วยให้เราเข้าถึงปัญหา

การออกแบบยูไอนั้นช่วยให้เรามองเห็นปัญหาได้ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ …ทุกครั้งที่ผมคิดว่า “ครบแล้ว ดีแล้ว” มันจะมียูสเคสแปลกๆโผล่ขึ้นมาเสมอ

  • ถ้าผู้ใช้อยากเห็นข้อมูลการขายอย่างเดียว
  • ถ้าผู้ใช้อยากเห็นข้อมูลการขายทั้งเดือนละ?
  • แล้วถ้าเค้าอยากแก้ไขมันได้ด้วย?
  • ถ้าเค้าเลือกซื้อสินค้าชิ้นเดียว … หน้าจอเราจะแสดงผลแบบนี้ … โอเคแล้ว
  • แต่ถ้าเค้าเลือกสินค้าสองชิ้นหละ? … หน้าจอแบบนี้ไม่เวิร์คซะแล้ว
  • อ่าว แล้วถ้าเค้าเลือกสินค้าทุกชิ้นหละ จะทำยังไง?

ทุกครั้งที่มีคำว่า “ถ้า” โผล่ขึ้นมาในสมองหละเป็นประเด็นทันทีครับ มีเรื่องให้ต้องคิดต้องปวดหัวแต่มันสนุกมากนะ มันช่วยลับคมความคิดของเราได้ดีมากจริงๆ

ไม่เถียงครับว่าการเป็นดีเวลลอปเปอร์ที่เน้นเขียนโค๊ดเป็นหลักก็เป็นงานที่ใช้สมองมาก แต่สำหรับผมมันคนละแนวกันนิดนึง การเลือกว่าตัวแปรนี้จะเป็นอิ้นท์หรือโฟลท์นั้นดูห่างไกลจากลูกค้าอยู่เมื่อเทียบกับการเลือกที่เราต้องเลือกว่าฟิลด์นี้เป็นเรดิโอบ๊อกส์หรือเป็นเช็คบอกส์ดีกว่ากัน … นี่คือสิ่งที่ลูกค้าต้องสัมผัสและใช้งานอยู่ทุกวัน

นอกจากนี้ … สำคัญเลย … การออกแบบยูไอและเวิร์คโฟลมันช่วยให้เรามีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ผู้ใช้มากขึ้น การออกแบบคือการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ ดังนั้นทุกจังหวะเวลาผมจะเตือนตัวเองเสมอว่า “แกไม่ใช่คนใช้นะ อย่าทำตามใจตัวเอง อย่าคิดว่านี่มันง่ายแล้ว” ลองคิดถึงผู้ใช้ตัวจริงที่อาจจะเป็นคุณน้าคุณอาที่ไม่ได้เก่งเทคโนโลยีอะไรอย่างเรา ลองคิดถึงผู้ใช้ที่มีงานที่ต้องทำล้นมืออย่างเจ้าหน้าที่การเงิน — ถ้าพวกเค้ามาเจอซอฟต์แวร์ที่ออกแบบไม่ดีแทนที่จะช่วยแก้ปัญหามันจะกลายเป็นเพิ่มปัญหา

พวกเราเป็นมนุษย์ที่มีตรรกะ

ฮ่าๆ … คนเป็นดีเวลลอปเปอร์ได้นี่ผมมั่นใจว่าต้องรู้จักตรรกะพอสมควรแหละน่า พวกเรามักจะพูดกันเสมอๆเวลาเขียนโค๊ดว่า “เฮ้ย ช่วยอธิบายลอจิกตรงนี้ให้ฟังหน่อย” คนที่เขียนโค๊ดดีจะเป็นคนที่ออกแบบได้ดีเช่นกัน ผมเชื่อเช่นนั้น เพราะพวกเราจะมีตรรกะในการคิดและมีทักษะในการมองงานที่ไม่เหมือนคนอื่น (บางคนออกแบบเอาสวยงามอย่างเดียวโดยไม่สนใจว่ามันแก้ปัญหาได้จริงมั้ย)

  • ความสะอาดสะอ้านและอ่านง่ายของโค๊ด
  • ความเป็นระเบียบและเป็นกลุ่มก้อนของโค๊ด
  • ความเหมือนกันในเรื่องที่จำเป็นต้องเหมือนกันในโค๊ด

ถ้าเราเป็นดีเวลลอปเปอร์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ เราจะเป็นนักออกแบบที่ดีแน่นอนครับเพราะเรื่องนี้ไม่ได้ต่างกันเลย

  • สิ่งที่เราออกแบบจะต้องใช้งานง่าย คำว่าง่ายคือถ้าคลิ๊กเจ็ดครั้งเพื่อเข้าถึงรายงานซักฉบับนี่ไม่ได้ล่ะ ยากไป … หรือถ้าต้องคลิ๊กอีกเจ็ดครั้งเพื่อจะดูว่าตอนนี้เหลือสินค้าในคลังกี่ชิ้น … นี่ก็ไม่ไหว ยากไป
  • สิ่งที่เราออกแบบจะเป็นกลุ่มก้อนที่ใช้งานร่วมกันได้เหมือนที่เราจัดแบ่งเมธอดในโค๊ดไว้อย่างเป็นระเบียบ … อืม หน้าค้นหานี่มันคล้ายๆกันเลยนี่หว่า งั้นรวมทั้งหมดมาไว้ต้องกลางที่เดียวเป็นยูนิเวอร์แซลเสิร์จเลยดีกว่า อะไรแบบนี้
  • สิ่งที่เราออกแบบจะมีรายละเอียดและขั้นตอนการใช้งานที่เป็นมาตรฐานเหมือนเราเลือกใช้อะเรย์ลิสต์กับงานที่เหมาะสม ไม่ใช่อันนี้อะเรย์ลิสต์อันนี้แฮชแมปมั่วไปหมด … เออ ครั้งที่แล้วฟิลด์นี้เป็นเรดิโอบ๊อกส์ ครั้งนี้ก็ต้องเหมือนกัน / เออ ครั้งที่แล้วปุ่มที่มีความสำคัญเป็นลำดับสองของหน้าเป็นสีน้ำเงิน ครั้งนี้ก็ต้องเหมือนกัน / เออ หน้าที่แล้วปุ่มเซฟอยู่ขวาล่าง ครั้งนี้ก็ต้องอยู่ที่เดิม

ไม่มีใครแม่นเรื่องพวกนี้ไปมากกว่าดีเวลลอปเปอร์เทพอย่างเราๆแล้วครับ ฟันธง

มันสนุกมาก

ข้อนี้ไม่เกี่ยวว่าเป็นดีเวลลอปเปอร์หรือไม่ … ผมอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาลองเป็นนักออกแบบกันดูครับ มันสนุกมากๆ เพราะเราจะมีโอกาสได้ใช้จินตนาการและความคิดอย่างเต็มที่ มันเป็นเรื่องที่ไม่มีผิดถูก (มีแต่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ฮ่าๆ) … ยิ่งถ้าได้เห็นสิ่งที่เราออกแบบถูกสร้างเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้จริง ที่ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ได้จริง มันยิ่งสนุกและรู้สึกภูมิใจที่สุดครับ


ไม่ใช่แค่ดีเวลลอปเปอร์ … ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าพวกเราทุกคนไม่ว่าจะเรียนอะไรจบอะไรทำงานตำแหน่งไหนมีทักษะการออกแบบและศิลปะอยู่ในตัวครับ … บางคนมีมาก บางคนมีน้อย บางคนฝึกฝนบ่อย บางคนไม่รู้เลยว่าตัวเองก็ทำได้ ลองดูครับ แค่ตั้งโจทย์ขึ้นมา กระดาษกับดินสอ แค่นี้เอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *