✍🏼 ไล่คน vs. ไล่แผน

ย้อนหลังไปสัก 30 ปีที่แล้วในช่วงที่คำว่าสตาร์ทอัพยังไม่เป็นที่รู้จัก การสร้างหรือทำธุรกิจนั้นเริ่มต้นที่การวางแผน … แผนธุรกิจที่ละเอียดลึกซึ้ง แผนธุรกิจที่ต้องใช้เวลาและพลังงานในการเขียนเยอะ แผนธุรกิจที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการเขียน แผนธุรกิจที่ต้องผ่านการรีวิวและแก้ไขหลายรอบ แผนธุรกิจที่เล่มหนาเหมือนไบเบิ้ล

แผนธุรกิจนี้เองที่ทุกคนใช้เป็นหลักประกันในการของบประมาณในการดำเนินการ ขอเงินลงทุนจากนักลงทุน หรือขอเงินกู้จากธนาคาร

แผนธุรกิจนี้เองที่ทุกคนยึดมั่นถือมั่นเป็นกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดในการดำเนินการและวัดผล และเมื่ออะไรๆไม่เป็นไปตามแผนที่เขียนไว้ ใครสักคนต้องเดือดร้อน

😡 ถ้างานไม่เสร็จตามสโคปและเวลาที่กำหนด — ฝ่ายผลิตมีความผิด

👎🏽 ถ้าสินค้าขายไม่ดีรายได้ไม่เข้าเป้า — ฝ่ายขายเตรียมตัวโดน

👊🏼 ถ้าการลงทุนไม่ให้ผลตอบแทนอย่างที่ตั้งเป้า — ฝ่ายการเงินต้องตอบคำถาม

💀 ถ้าการตลาดเสียท่าให้คู่แข่ง — ฝ่ายการตลาดก็หนีไม่รอด

การวัดผลตามแผนที่เขียนไว้เพียงอย่างเดียวหลายครั้งทำให้คนที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆต้องหายหน้าไปทีละคนสองคน ไม่เว้นแม้แต่ซีอีโอที่ถูกสั่งให้เก็บของแล้วไปหางานใหม่โดยบอร์ดบริหาร คนเก่าไป คนใหม่มาแทนที่ แต่ผลลัพธ์ก็ไม่ต่างไปจากเดิมเท่าไรเพราะทุกอย่างยังคงถูกดำเนินการตามแผนเดิม แผนที่ผิดมาตั้งแต่ต้น

ในยุคนั้นบอร์ดบริหารมีความเชื่อและความเข้าใจแปลกๆที่ว่า แผนไม่เคยผิดแต่คนผิด ที่ไม่ได้ผลตามเป้าเพราะคนไร้ความสามารถ พวกเขาจึงเลือกที่จะไล่คนเก่าและจ้างคนใหม่ที่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำอะไรให้ดีกว่าเดิมได้มากนักเพราะแผนที่มีมันไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมกับสถานการณ์

พวกเขามักจะเลือกไล่คนออกแต่ไม่ยอมแก้ไขแผน ไม่ยอมคิดว่าแผนผิดและคนที่ทำตามแผนเป็นแค่เหยื่อผู้โชคร้ายที่ถูกมัดมือและปิดตาให้ทำงานในที่มืด

จริงๆแล้วคนมีความสามารถเพียงพอ จริงๆแล้วเรายังสรุปตื้นๆไม่ได้ว่าคนผิด จริงๆแล้วเราควรตั้งสมมติฐานไว้ก่อนเลยด้วยซ้ำว่าแผนผิด

จริงๆแล้วเราไม่ต้องการแผนธุรกิจที่ละเอียดยิบ แต่เราต้องการแผนธุรกิจที่ดีพอที่จะเริ่มต้น และที่สำคัญคือเราต้องการทัศนคติที่พร้อมรับความจริง ปรับตัว และเชื่อมั่นในคนมากกว่านี้

นี่แหละเรื่องที่แตกต่างระหว่างบริษัทใหญ่สมัยนั้นและสตาร์ทอัพสมัยนี้ 🤡

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *