เมื่อบริษัทกำลังขยายตัว ความต้องการหลายๆเรื่องจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- รายได้ที่เพิ่มขึ้น
- สัดส่วนกำไรที่เยอะกว่าเดิม
- จำนวนฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น
- ออฟฟิศที่มีพื้นที่มากขึ้น
- จำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้น
วันนี้ผมสนใจข้อสุดท้าย — ผมเคยเห็นผ่านตามาบ้างเพราะมันหนึ่งในเรื่องที่ต้องระบุลงไปในแผนของบประมาณปีหน้าที่จัดทำโดยหัวหน้าแผนกคือ “ปีนี้ต้องการพนักงานเพิ่มกี่คน? ห้าคน 10 คน 30 คน หรือ 150 คน”
วันนี้ผมเกิดสงสัยขึ้นมาว่า “คุณรู้ได้อย่างไรว่ามันต้องเป็นห้าคนไม่ใช่สองคน หรือ 300 คนไม่ใช่ 150 คน” ไม่มีทางรู้อย่างแน่ชัดหรอก มันคือการคาดเดาล้วนๆแต่ผมก็แปลกใจที่ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วทำไมถึงกำหนดตัวเลขพวกนี้ขึ้นมาเป็นตัวตั้งก่อน
ที่น่าแปลกใจเข้าไปอีกคือมันกลายเป็นภาระหน้าที่ของหัวหน้าแผนกที่ต้องเติมตัวเลขนี้ให้เต็มไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าต้องการเพิ่ม 30 คนภายในหนึ่งปีโดยเฉลี่ยเราต้องรับคนเพิ่มเดือนละสามคนซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าอยากได้คนดีมีคุณภาพ
เมื่อไรก็ตามที่เริ่มมีความกดดันต้องทำยอด (หาคนเพิ่ม) ให้ได้ตามที่เป้าหมายกำหนด มาตรฐานการคัดเลือกคนจะตกต่ำลง ความสำคัญจะกลายเป็นปริมาณไม่ใช่คุณภาพ และมันจะส่งผลเสียอย่างมหาศาลต่อประสิทธิภาพการทำงาน วัฒนธรรมและคุณค่าที่องค์กรยึดถือ
มันอาจจะคุ้มค่าในสายตาคนออกคำสั่ง
มาคิดอีกทีผมก็พอจะมองเห็นสาเหตุของเรื่องนี้นะ … ลองกลับไปดูลิสต์ห้าข้อข้างบน ทำไมเราต้องเพิ่มคนเท่านั้นเท่านี้? คำตอบคือเพราะเราถูกบังคับด้วยตัวเลขรายได้ที่ “ต้อง” เพิ่มขึ้น สัดส่วนกำไรที่มากขึ้น มันคือเป้าหมายที่ถูกกำหนดมาว่าต้องทำให้ได้
“ครับท่าน รายได้เพิ่ม 3,000 ล้านบาท ทีมผมต้องการคนเพิ่มอีก 100 คนครับ”
มันเป็นประโยคที่เต็มไปด้วยสมมติฐานที่ไม่มีอะไรมารองรับเลยแม้แต่นิดเดียว เราจะหาคนได้ 100 คนมั้ย? เราจะรักษาคนทั้ง 100 คนไว้ได้มั้ย? ถ้าเรามีคนครบ 100 คนเราจะหาเงินเพิ่มได้อีก 3,000 ล้านจริงมั้ย? — ไม่มีใครตอบได้แต่มันคือข้อกำหนดที่ต้องทำตาม
มันไม่ถูกต้องในสายตาผมที่เชื่อมั่นในความยั่งยืนและความสำคัญของคน
ผมคิดว่าแนวทางที่มันควรจะเป็นคือถ้าบริษัทมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่ากำลังขยายตัว สิ่งที่เราต้องกำหนดเป็นเป้าหมายแรกไม่ใช่เงินรายได้หรือกำไรแต่เป็นจำนวนคนที่จะเพิ่มเข้ามาในทีม นี่คือคำถามที่ผมจะหาคำตอบให้ตัวเอง
ถ้าเรารับคนดีมีคุณภาพเพิ่มเข้ามาอีกสองคน เราควรจะสร้างรายได้และกำไรได้เพิ่มอีกเท่าไร?
ผมให้ความสำคัญของคน วัฒนธรรมและคุณค่าที่บริษัทผมยึดถือเป็นอย่างแรก ผมไม่คิดว่าการทำลายสิ่งเหล่านั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ (ที่เกิดจากการคาดคะเน) มันเป็นสิ่งที่คุ้มค่าและควรทำ
หลังจากนั่งคำนวณแล้วได้ผลลัพธ์ออกมาว่า
- ถ้ารับเพิ่มสองคน เราจะมีความสามารถในการรับงานได้อีกห้าโปรเจกต์คิดเป็นเงินประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี
- ถ้ารับเพิ่มหนึ่งคน เราจะมีความสามารถในการรับงานได้อีกสองโปรเจกต์คิดเป็นเงินประมาณ 7.5 ล้านบาทต่อปี
- ถ้าเราไม่รับคนเพิ่มเลย เราจะมีความสามารถในการรับงานได้อีกแค่หนึ่งโปรเจกต์คิดเป็นเงินประมาณ 3 ล้านบาทต่อปี
ผมมั่วขึ้นมาเหมือนกันแต่เป็นการมั่วแบบเจียมตัว … ถ้าผมสามารถหาคนมีคุณภาพได้สองคน เป้าหมายรายได้ผมก็เพิ่ม 12 ล้าน ถ้าหาได้หนึ่งคนก็ลดมาเหลือ 7.5 ล้าน หรือถ้าหาไม่ได้เลย เป้าหมายผมเองก็ลดลงมาเหลือ 3 ล้าน
ผมคิดเล็กคิดสั้นรึเปล่า? … ผมว่าไม่ใช่นะ กลับกันเลยผมคิดใหญ่และหวังยาวเพราะผมเชื่อมั่นอย่างที่สุดว่าการควบคุณคุณภาพทีมงาน การรักษาวัฒนธรรมและคุณค่าของบริษัทคือการสร้างจุดแข็งที่จะต่อยอดให้ผมสามารถสร้างรายได้และกำไรมากกว่าที่คาดคะเนไว้อีกหลายสิบเท่า
ผมไม่เทรดผลลัพธ์ระยะสั้นกับความยั่งยืนระยะยาวครับ
ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนผมว่า “มันมีงานให้ทำมากกว่าปริมาณคนที่มีเสมอ” นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราต้องการคนเพิ่มเพื่อมาทำงาน ประเด็นไม่ใช่ว่าเราต้องหลับหูหลับตาเพิ่มคนเข้ามาทำงานที่มี แต่มันคือการคัดเลือกและจัดลำดับความสำคัญของงานให้เหมาะสมกับปริมาณคนที่เรามีต่างหาก … เพราะผมและทีมงานไม่กลัวที่จะปฏิเสธการรับงาน การตัดสินใจเรื่องนี้จึงไม่ยากเลย
ป.ล. ผมเขียนเรื่องนี้เตือนสติตัวเองเพราะบริษัทของผมกำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจหาทีมงานเพิ่มอยู่ครับ 🧑🏽💻👨🏼💻👩🏼💻👩🏼💼