โปรดักท์ เมเนเจอร์จะตื่นเต้นที่สุดเมื่อได้ไอเดียอะไรที่ตัวเองรู้สึกว่า “บรรเจิด” และความกระตือรือร้นจะตามมาติดๆ ไอเดียที่ถูกแปลงเป็นภาพวาด เป็นคำอธิบาย เป็นฟีเจอร์ และเป็นเวิร์คโฟล ขั้นตอนถัดมาน่าสนใจอย่างยิ่ง
เมื่อโปรดักท์ เมเนเจอร์หิ้วข้อมูลที่ตัวเองมีในมือไปขอคำปรึกษาจากทีมพัฒนา และถามที่เราได้ยินบ่อยที่สุดในจุดนี้คือ “มันเป็นไปได้มั้ยครับ?”
ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
คำตอบที่โปรดักท์ เมเนเจอร์จะได้จากทีมพัฒนา (ที่มีความเป็นมืออาชีพและไม่กวนโอ๊ย) คือ “ทำได้”
ด้วยธรรมชาติของทีมพัฒนา พวกเขามีหน้าที่สร้างตามรายละเอียดที่ได้รับมอบหมาย การสร้างเป็นงานของพวกเขา และมันอยู่ในดีเอ็นเอของพวกเขา ดังนั้น … การตอบว่า “ทำไม่ได้” มันเหมือนเป็นการดูถูกตัวเอง เหมือนว่าตัวเองทำงานบกพร่อง ต่อให้ยากแค่ไหนพวกเขาก็จะพยายามทำให้มันได้จนได้
แต่คำว่า “ทำได้” นั้นเป็นคำตอบที่บอกอะไรเราไม่ได้เลย เพราะ?
ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ
ข้อดีของการทำซอฟต์แวร์คือมันแทบจะไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย อยากได้อะไรก็ได้ อยากเห็นอะไรก็จะได้เห็น อยากสร้างอะไรขอให้บอก แต่ข้อดีแบบนี้จะแปลงร่างกลายเป็นข้อเสียแบบสุดขั้วได้ง่ายๆเพราะการสร้างคือการลงทุน คน เวลา เงิน สมอง พลังงาน จิตใจ จิตวิญญาณ
การตั้งคำถามว่า “เป็นไปได้หรือไม่?” นั้นเป็นการเริ่มต้นบทสนทนาที่ผิด โปรดักท์ เมเนเจอร์ต้องคิดให้ลึกกว่านั้น และตั้งคำถามที่ดีกว่านั้น … แบบนี้
“อันนี้เป็นไปได้มั้ยภายใน 2 เดือน?”
เปลี่ยนคำว่า ภายใน 2 เดือนเป็น ด้วยคน 2 คน หรือ ด้วยเงิน 2 ล้านบาท หรือ ด้วยแอปตัวเดิม หรือ ด้วยการใช้เดต้าเบสแบบเดิม ด้วย …
ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัด … โปรดักท์ เมเนเจอร์ต้องเข้าใจเงื่อนไขของงานดีกว่าใคร
คำถามใหม่ คำตอบใหม่
โปรดักท์ เมเนเจอร์จำเป็นต้องตั้งคำถามใหม่ … ทำอย่างไร?
ไม่ยาก ด้วยการลดความตื่นเต้นของตัวเองลงนิดนึงเมื่อไอเดียบรรเจิดมันพุ่งเข้ามาชนสมองของเรา ตื่นเต้นได้ จินตนาการได้ ออกแบบได้ … แต่อย่าลืมมองหาความเสี่ยงและเงื่อนไขที่ตามมาของงานนี้ด้วย เพื่อการตั้งคำถามที่ดีขึ้นกว่าเดิม คำถามที่ช่วยให้ทีมพัฒนาตอบได้อย่างถูกต้องกับสถานการณ์มากที่สุด
“ถ้า 2 เดือน ทำไม่ทันแน่”
“ถ้า 2 เดือนแล้วมี 3 คน ก็พอมีหวัง”
คำตอบแบบนี้ที่โปรดักท์ เมเนเจอร์อยากได้ เพราะเมื่อเราเห็นต้นทุนที่เราต้องจ่ายแล้ว (2 เดือนกับคน 3 คน) เราอาจจะไม่ตื่นเต้นกับไอเดียที่สุดแสนจะบรรเจิดนั้นแล้วก็ได้ 🙈 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีนะครับ ถือว่าเราทำหน้าที่ได้ดีทั้งคิดหาโอกาส, ทำความเข้าใจกับสถานการณ์, และตัดสินใจจากข้อมูลที่รอบด้านที่สุด 👍🏽