“ถ้ามันไม่ท้าทาย เราจะทำไปทำไม”
น้อยคนนักที่จะกล้าเสี่ยง กล้าท้าทายความเชื่อเดิม กล้าผลักดันขีดจำกัดเก่าของเทคโนโลยี
มันไม่จำเป็นต้องเป็นการสร้างอะไรใหม่ทีเปลี่ยนโฉมโลกใบนี้ แต่มันคือการเปิดรับแนวคิดใหม่และพยายามเดินออกนอกเขตปลอดภัยของตัวเองเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง
คนส่วนใหญ่นั้นจะเน้นอนุรักษ์นิยม (คำสุภาพที่ใช้แทนคำว่าขี้เกียจคิดมากกว่าที่เคยคิดมา) แก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิม ยึดติดอยู่กับรูปแบบการทำงานเดิม เลือกตัดสินใจด้วยมุมมองเดิม เช่น
มีปัญหาคนไม่พอก็จ้างคนเพิ่ม — ง่ายจริง
มีปัญหาระบบช้าก็เพิ่มเครื่องเพิ่มแรม — สบายๆ
มีปัญหารถไม่พอใช้ก็ซื้อรถเพิ่ม — ไม่ต้องคิดมาก
มันก็ใช่ มันแก้ปัญหาได้ แต่ลองถามตัวเองให้จริงจังสักนิดว่า … “เด็กประถมก็คิดได้ใช่มั้ย? กับวิธีการแบบนี้”
ความท้าทายอยู่ตรงไหน? เราจะได้อะไรกลับมาบ้างด้วยการแก้ปัญหาแบบง่ายๆส่งๆแบบนี้? ไม่มี ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีการเรียนรู้ ไม่มีการสร้างทักษะและมุมมองใหม่ นั่นแปลว่าใครก็แก้ปัญหานี้ได้ เราจะไม่ใช่คนสำคัญ เราจะกลายเป็นคนที่ถูกทดแทนได้ง่าย … มันมีผลมากต่อความยั่งยืนของธุรกิจ
สิ่งที่ต้องเป็นคือแบบนี้ … เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราจะแก้ปัญหานี่ยังไงโดยไม่เพิ่มคน เพิ่มเครื่อง เพิ่มรถ?
ทำยังไงที่จะแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการมองข้ามคำตอบที่โจ่งแจ้งอย่างเพิ่มเพิ่มและเพิ่ม หรือตัดลดบางเรื่องในบางกรณี?
ทำยังไงให้ลงทุนน้อยที่สุดเพื่อผลตอบแทนมากที่สุด?
ทำยังไงที่การแก้ปัญหาครั้งนี้จะกลายเป็นมาตรฐานในการทำงานของเราในอนาคตต่อไป?
นี่คือคำถามที่เราต้องหาคำตอบ ความท้าทายทำให้เราเก่งขึ้น ความท้าทายทำให้เราไม่หยุดนิ่ง และความท้าทายคือสิ่งที่เราต้องการในการทำงานทุกวัน
ไม่ท้าทายก็ไม่พัฒนา ไม่ท้าทายก็เฉื่อยชาและหมดสนุก