หลายครั้งเราก็ติดกับดักความสำเร็จของตัวเอง การเปรียบเทียบผลงานใหม่ที่กำลังรังสรรค์อยู่กับผลงานเก่าที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในอดีตและปัจจุบัน
ถ้าเราเป็นนักกีฬา … ถูกต้อง การเปรียบเทียบคือทุกสิ่งทุกอย่างที่บ่งบอกคุณภาพในตัวเรา คำว่าแพ้หรือชนะถูกกำหนดไว้และยอมรับอย่างกว้างขวางและเราก็ลงแข่งเพื่อให้ได้ชัยชนะ ดังนั้นถ้าเมื่อทัวร์นาเม้นต์ที่แล้วเราเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 10.12 วินาที ทัวร์นาเม้นต์นี้เราต้องทำเวลาได้ดีกว่านั้น การเปรียบเทียบจากสถิติครั้งก่อนนั้นสำคัญยิ่งยวด
ถ้าปีที่แล้วเราทำคะแนนได้ 82 คะแนนแต่ได้รองแชมป์ ปีนี้เป้าหมายของเราคือแชมป์ และแนวโน้มคือเราต้องทำคะแนนให้ได้มากกว่าเดิมจึงจะประสบความสำเร็จ
แต่กับงานด้านอื่นๆแล้วนั้นการเปรียบเทียบไม่ใช่ทุกอย่างที่จะใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ เพราะกฎเกณฑ์และนิยามของคำว่าความสำเร็จนั้นไม่มีมาตรฐานตายตัวและไม่ถูกยอมรับในวงกว้าง เช่น ภาพยนต์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จกว่าอีกเรื่อง? วัดจากอะไร?
การดำเนินเรื่อง, เนื้อหา, ยอดขายตั๋ว, ยอดดาวน์โหลด, ยอดวิว, จำนวนงานเปิดตัว, คำวิจารณ์จากนักวิจารณ์, จำนวนรางวัลออสก้า? // ถ้าเราไม่ชอบหนังชีวิตผมต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ดีกว่าหนังตลกที่เราชอบงั้นหรือ? คงไม่ใช่
ซอฟต์แวร์นี้ประสบความสำเร็จกว่าซอฟต์แวร์ตัวเก่า? วัดจากอะไร?
เร็วกว่า, สวยกว่า, ฟังก์ชั่นเยอะกว่า, ทนทานกว่า, ยอดไลค์เยอะกว่า, ขายดีกว่า, ได้รางวัลจากการประกวดตามเวทีต่างๆมากกว่า, คนใช้เยอะกว่า? // ถ้าเราไม่ใช่คนชอบถ่ายรูป มันก็คงยากที่ผมจะยกนิ้วให้ซอฟต์แวร์แต่งภาพที่ไม่เคยคิดจะใช้
ประเด็นคืองานศิลปะหลายประเภทรวมถึงงานซอฟต์แวร์แต่ละชิ้นนั้นมีบริบทที่ต่างกัน เช่น ปีนี้ฉันจะเขียนหนังสือแนวนิยายวิทยาศาสตร์ มันคงไม่ยุติธรรมถ้าฉันจะเอามันไปเปรียบเทียบกับหนังสือเล่มก่อนแนวสืบสวนสอบสวนที่ได้รับรางวัลหนังสือยอดเยี่ยมแห่งปี มันคนละแนว มันคนละแบบ มันคนละเวลา มันคนละกรอบความคิด และมันคนละเป้าหมาย
ตอนนี้ฉันกำลังสร้างซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการขาย มันคงไม่ยุติธรรมถ้าฉันจะเอามันไปเปรียบเทียบกับซอฟต์แวร์ระบบดูทีวีร่วมกันแบบโซเชี่ยลที่มีผู้ใช้ทะลุเป้า มันคนละแนว มันคนละแบบ มันคนละเวลา มันคนละกรอบความคิด และมันคนละเป้าหมาย
จริงอยู่ที่เราต้องพยายามพัฒนาตัวเองและงานของตัวเองไปเรื่อยๆอย่างไม่หยุดนิ่ง แต่การพัฒนานั้นควรต้องเป็นไปอย่างถูกทางด้วย …
เราต้องพยายามทำงานชิ้นนี้ให้ “ดีที่สุด” เท่าที่มันจะเป็นไปได้ ไม่ใช่ “ดีกว่า” ของเก่าที่เคยทำมา