ปรัชญาอะไจล์ถูกประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลาย ด้วยความคาดหวังที่จะเป็นทางออกสำหรับปัญหาที่พบเจอในกระบวนการทำโปรดักท์
- งานช้า
- แก้ไขปรับปรุงยาก
- คุณภาพต่ำ
- ไม่ตรงใจผู้ใช้
จริงๆแล้วอะไจล์ตอบคำถามเหล่านั้นได้หมดถ้าใช้อย่างถูกวิธี ว่ากันด้วยวิธีที่ไม่น่าจะถูกต้องกันก่อน
“การให้ความสำคัญกับการวัดผลด้วยตัวเลข (โปรดักทิวิตี้) มากกว่าความสุขของคนที่มีส่วนร่วมในงาน”
เมื่อตัวเลขที่กำกวมถูกให้ความสำคัญมากกว่าความจริงที่เห็นอยู่ตรงหน้า เมื่อแต้มถูกกำหนดอย่างจริงจัง เมื่อเวโลซิตี้ถูกหยิบมาเป็นมาตรฐานในการทำงาน เมื่อวันรีลีสถูกใช้เป็นเดดไลน์แบบไม่มองหน้ามองหลัง คนทำงานก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมแลกโปรดักทิวิตี้แบบปลอมๆกับความสุขของคนรอบข้าง
- มันจะมีปัญหาอะไรมั้ยถ้าเดือนนี้เราโปรดักทิวิตี้บนบอร์ดต่ำลง 50% แต่ช่วยทำให้ผู้ใช้ยิ้มได้เพราะเราเข้าไปช่วยเขาวิเคราะห์และแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่?
- มันจะมีปัญหามากแค่ไหนถ้าวันนี้เราหมดเวลาทั้งวันไปกับการช่วยสอนงานให้น้องใหม่จนทำงานของตัวเองล่าช้าไปหนึ่งวัน?
- มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่รึเปล่าถ้าเราตัดสินใจรื้อระบบเดิมที่ทำไปเพื่อแก้ไขให้มันดีกว่าเดิมสำหรับอนาคตจนทำให้งานช้าลงหนึ่งสัปดาห์?
- มันจะกลายเป็นเรื่องซีเรียสแค่ไหนถ้าเดือนนี้ทั้งเดือนเราไม่ทำอะไรเลยนอกจากแก้บั๊กเดิมๆที่ค้างไว้จนไม่มีเวลาทำฟีเจอร์ใหม่ๆออกไป?
ถ้าเรื่องราวเหล่านี้สร้างปัญหาร้ายแรงให้กับเราอาจจะแปลว่าเรากำลังทำงานโดยยึดโปรดักทิวิตี้แบบตัวเลขมากกว่าความสุขและความจริงที่เกิดขึ้นในการทำงาน เมื่อเรายอมแลกตัวเลขกับ
- การทำงานที่ดีและคล่องตัวขึ้นของผู้ใช้
- ความไหลลื่นในการทำงานของเพื่อนร่วมทีมคนอื่น
- ระบบที่ดีขึ้นและมีคุณภาพมากขึ้นในระยะยาว
นั่นคือความสุขในความหมายของการมองความจริงเชิงคุณภาพเป็นตัวชี้วัดด้วย ความก้าวหน้าและความสำเร็จของงานนั้นถูกวัดจากความรู้สึกของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานเสมอ
- เราแฮปปี้กับสภาพแวดล้อมการทำงานมั้ย?
- เราแฮปปี้กับซอฟต์แวร์ที่เป็นอยู่ตอนนี้มั้ย — คุณภาพ ฟีเจอร์ อนาคต?
- เราแฮปปี้กับสิ่งที่ผู้ใช้และลูกค้าได้รับจากทีมงานของเรารึเปล่า?
มันคือความสำเร็จที่เราสมควรไล่ตาม ไม่ใช่ตัวเลขบนบอร์ดหรือในรายงานเพียงอย่างเดียว
กลับมาที่จุดเริ่มต้นของบทความ … อะไจล์ถ้าถูกใช้อย่างถูกวิธีจะช่วยเราได้ทุกเรื่อง
- งานช้า — เราก็เลือกทำงานให้น้อยลงและงานจะเร็วขึ้นเอง
- แก้ไขปรับปรุงยาก — เราก็ทำทีละน้อยอย่างมีคุณภาพและให้ความสำคัญกับเรื่องทางเทคนิคและโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมให้มากกว่าแค่ฟีเจอร์ด้านหน้า
- คุณภาพต่ำ — เราก็หยุดการแลกเวโลซิตี้กับคุณภาพของงานตั้งแต่วันนี้
- ไม่ตรงใจผู้ใช้ — เราก็ต้องเริ่มต้นด้วยการให้ความสำคัญกับผู้ใช้มากกว่าแต้มในแบ็คล็อกและเดดไลน์
ทุกสำนักสอนให้เราเน้นทำงานกับคนเพื่อคน แต่การแปลความที่ผ่านมาอาจจะบิดเบือนไปบ้าง อาจจะเป็นเพราะตัวเลขมันง่ายต่อการคำนวณเปรียบเทียบและวัดผล มันเลยถูกเอามาใช้อย่างพร่ำเพรื่อและมักง่าย
ทำอะไจล์แต่มีข้อสงสัยเมื่อมาถึงทางแยกที่ต้องเลือก … ให้เลือกความสุขของคนที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ไว้เสมอ แล้วทุกอย่างจะเข้ารูปเข้ารอยเอง