“ไม่รู้” กับ “ไม่เร็วพอ” คือคนละเรื่อง คนละปัญหากัน
บางครั้งเราก็หลงคิดไปว่ามันคือเรื่องเดียวกัน
ผู้ยิ่งใหญ่ในบริษัทรู้สึกว่าทีมเราทำงานช้าไม่ทันใจ ท่านเค้ารู้สึกว่าทีมเราดูเหมือนไม่มีผลงาน นิ่งๆ เซื่องๆ ซึมๆ … เราจะทำยังไงกันดี
หนึ่งในสิ่งที่หลายคนนึกถึงทันทีกับปัญหาแนวนี้คือ … การสื่อสาร เฮ้ เพราะเราสื่อสารไม่ดีพอท่านจึงขาดข้อมูลว่าพวกเราทำอะไรกันอยู่ และทันที่ที่เราพูดเรื่องการสื่อสาร เราจะวิ่งเข้าหาคำว่าสเตตัส อัพเดท และสเตตัส รีพอร์ตโดยอัตโนมัติ
ถ้าเรามีสเตตัส รีพอร์ตให้ท่านอ่านอย่างสม่ำเสมอ ท่านคงเข้าใจมากขึ้นว่าพวกเราทำอะไรกันอยู่ ฟังดูดีแค่ติดที่ว่า
- ท่านส่วนใหญ่ไม่อ่านหรอก (รู้ๆกันอยู่)
- ต่อให้ท่านเค้าอ่านและเข้าใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทีม ท่านเค้าก็ยังอยากให้งานเสร็จแบบสายฟ้าแลบอยู่ดี
เห็นชัดเลยว่าสเตตัส รีพอร์ตไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้น เสียเวลาทำเปล่าๆ ปัญหาไม่ใช่ไม่รู้ ปัญหาคือไม่ทันใจ
ปัญหาที่ต้องแก้ที่ต้นเหตุ นั่นคือความคาดหวังและการตั้งความคาดหวังให้สมเหตุสมผล อย่าเอาทัศนคติว่าต้องทำได้มาอ้างในกรณีนี้ สิ่งที่ต้องการ คุณภาพที่อยากได้ แรงงานคนที่มี เวลาที่มี งบประมาณในมือ สุดท้ายแล้วคือการเจรจาต่อรอง ไม่มีใครได้ทุกอย่างตลอดเวลา
นี่ต่างหากบทสนทนาที่ควรเกิดขึ้น มันเป็นบทสนทนาที่ยากระหว่างคนที่ต้องทำงานร่วมกับท่านและตัวท่านเอง มันคือบทสนทนาที่หนักเพราะเราต้องพูดในสิ่งที่ท่านไม่อยากได้ยิน มันคือบทสนทนาที่เครียดเพราะเราต้องมองโลกจากพื้นฐานความจริง มันเป็นบทสนทนาที่โหดร้ายเพราะเรากำลังยืนอยู่ตรงข้ามกับท่าน
แต่ก็นั่นแหละ มีคนพูดว่าคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่าคือคนที่พร้อมเผชิญหน้ากับบทสนทนาที่ยากๆมากกว่า
ในกรณีนี้การแก้ปัญหาด้วยสเตตัส รีพอร์ตคือการเดินเลี่ยงบทสนทนาที่ยาก และปัญหานี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน เพราะไม่ใช่ไม่รู้แต่ไม่ทันใจต่างหาก