หนึ่งในสิ่งที่ผู้บริหารหลายคนหมกมุ่นสุดๆกับบริษัทเทคโนโลยีคือคำว่าโปรดักทิวิตี้ (Productivity)
งานเสร็จกี่ชิ้น
ใช้เวลากี่วัน
ทีมงานกี่คน
ต้นทุนกี่บาท
พวกเขาต้องการงานที่เสร็จมากชิ้นที่สุด ในเวลาน้อยที่สุด ด้วยทีมงานขนาดเล็กที่สุดและด้วยเงินลงทุนที่ต่ำที่สุด
มันไม่เคยมีจุดที่ดีพอ … เยอะแล้วต้องเยอะขึ้น เร็วแล้วต้องเร็วกว่านี้อีก เป็นวงจรที่หมุนไปไม่มีวันหมด
ที่น่าสนใจ (ปนความหดหู่นิดๆ) คือทีมที่ถูกครอบงำด้วยความเชื่อแบบนี้มีทีมเดียว
ทีมพัฒนาโปรดักท์ 🤨
พ้อยท์ เวโลซิตี้ สปริ้นท์ การ์ด เบิร์นดาวน์ แพลนนิ่ง เดลี่สแตนอัพ … คือหลักฐานแห่งความหมกมุ่นกับคำว่าโปรดักทิวิตี้ในทีมพัฒนา (จะมีผู้บริหารคนไหนที่ใส่ใจจริงบ้างมั้ยว่าทั้งหมดนั้นมันไม่เวิร์คเลยสักกะนิดเดียว)
ทีมพัฒนาโปรดักท์กำลังถูกสปอตไลท์สาดส่องจากทุกทิศทาง … เปรียบเสมือนคนทำผิด เหมือนเป็นการสื่อกลายๆว่าคนในบริษัทไม่เชื่อใจว่าทีมนี้มีความสามารถและเป็นมืออาชีพพอที่ควรได้รับโอกาสในการทำงานอย่างมีอิสระ มีพื้นที่ในการออกแบบ วางแผน และตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง
ทีมอื่น? มีทีมไหนอยู่ในสถานการณ์แบบนี้บ้าง? … น้อย … หรือไม่มีเลย
เมื่อต้องถูกบังคับให้สัญญาว่าภายในสองสัปดาห์ข้างหน้าจะต้องมีงานชิ้นไหนเสร็จบ้าง
เมื่องานอันใดต้องถูกติดตามและรายงานผลตอนเช้าทุกวัน
เมื่องานไม่เสร็จตามสัญญา ทุกคนจากทุกทีมก็จะได้รับรู้ข่าวสารแบบนี้อย่างทั่วถึง
เมื่องานทุกชิ้นถูกทุกคนจับจ้องและได้รับสิทธิ์ในการออกความคิดเห็นใน “เดโม่” เซสชั่น
ถ้าเป็นทีมธุรกิจ ทีมการเงิน ทีมการตลาด … อะไรๆจะเปิดเผยและเข้มงวดขนาดนี้มั้ย?
คำถามที่สำคัญกว่าคือ … มันจำเป็นต้องเปิดเผย โปร่งใส และเข้มงวดขนาดนี้จริงหรือ? มันเวิร์คจริงหรือ? มันสร้างวัฒนธรรมในการทำงานแบบสองมาตรฐานรึเปล่า?
ที่มาของชื่อบทความก็คือ … ทำไมจึงมีแค่ “เฉพาะตัว” เราที่ต้องเข้ากฎเกณฑ์อะไรแปลกๆแบบนี้ด้วย?