การพูดบรรยายต่อหน้าสาธารณชนนั้นน่าตื่นเต้นและน่าหวาดกลัวในเวลาเดียวกัน หลายคนทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ หลายคนขอเลี่ยงอย่างสุดชีวิต แตกต่างกันไปตามความชอบ
ไม่ว่าเราจะเก่งหรืออ่อนเรื่องนี้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นยืนพูดบรรยายสักเรื่องหนึ่งแล้ว ทุกคนเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอกับสถานการณ์ที่ว่า … คนส่วนหนึ่ง (อาจจะเป็นส่วนใหญ่) ไม่ฟังไม่สนใจที่เราพูด ผมเจอมาแล้วเจอมาบ่อยทุกครั้งที่พูดนั่นแหละ
ในฐานะผู้พูดเราทำอะไรไม่ได้กับกรณีนี้ นอกจาก … อย่าเสียเซล์ฟครับ คนมีสองกลุ่ม กลุ่มแรกที่สนใจตั้งใจฟัง และคนที่เข้ามานั่งเล่นทำงานและหลับในห้องประชุม อย่าได้สนใจคนเหล่านั้น เราต้องไม่มองหาคนที่ต่อต้านแต่มองหาคนที่สนับสนุนเรา
ภายในนาทีแรกของการพูด เรามองซ้ายเพื่อหาคนที่สนใจ เราต้องมองขวาหาคนที่ตั้งใจฟัง กลางห้อง หลังห้อง เราต้องการแค่คนไม่มีกี่คนสนใจและสนับสนุนเราในการบรรยายครั้งนี้ และเคล็ดลับของผมคือ เราตั้งใจสื่อสารกับแค่คนกลุ่มนี้ครับ เหมือนเล่าเรื่องให้เขาฟัง เหมือนแบ่งปันประการณ์ให้เขารับรู้ พูดอย่างนุ่มนวลและสบตาพวกเขาอย่างต่อเนื่อง อย่าได้ไปสนใจคนที่ไม่สนใจเราครับ ไม่ต้องมอง ไม่ต้องเรียกร้องขอความสนใจจากพวกเขา
เราอยู่ที่นี่เพื่อคุยกับคนที่ให้เกียรติเรา ไม่ใช่เพื่อพยายามโน้มน้าวให้คนที่ไม่อย่างฟังให้มาใส่ใจเรา อย่าได้แคร์ อย่าเสียเซล์ฟ และอย่าได้คาดหวังว่าคนทุกคนจะฟังเราในทุกครั้งที่เราพูดครับ
ฝึกไว้ ท่องไว้ “ฉันเตรียมตัวมาดีแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นฉันจะยังมีความมั่นใจในตัวเองอย่างเต็มเปี่ยมเหมือนเดิม” 🖖🏽