🏋🏼‍♂️ ยาก … กับใคร?

เมื่อพูดถึง “งานยาก” มีแปลความหมายได้สองมุมมอง (1) ยากกับคนใช้ กับ (2) ยากกับคนสร้าง — เราอยู่ฝ่ายไหน?

สมมติเราเป็นนักเรียน: “เห้อ วิชานี้เรียนไม่รู้เรื่องเลย อาจารย์พูดวกไปวนมาเหมือนไม่ได้เตรียมตัว เอกสารประกอบก็มีแต่ตัวหนังสือติดกันเป็นพรืด — ยากจัง”

สมมติเราเป็นอาจารย์: “เห้อ เด็กกลุ่มนี้มันหัวช้าจริง พูดเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา จะให้มานั่งทำสรุปเป็นเอกสารที่อ่านง่ายๆ มีรูปประกอบสวยๆไม่ไหวหรอก — ยากเกิน”

ยากกับคนใช้หรือยากกับคนสร้าง?

สมมติเราเป็นคนอ่าน: “ชื่อบทความน่าสนใจนะแต่อ่านยากจัง พยายามนึกภาพตามแล้วก็ยังไม่กระจ่าง น่าจะมีไดอะแกรมอธิบายเพิ่มเติมสักหน่อย — ยากจัง”

สมมติเราเป็นคนเขียน: “นี่ๆ เขียนให้อ่านก็บุญแล้วปะ กว่าจะคิดกลั่นออกมาได้สักประโยคนี่ก็ไม่ง่ายแล้วนะ ยังจะเอานั่นนี่เพิ่มอีกหรอ — เกินไปมั้ย”

ยากกับคนใช้หรือยากกับคนสร้าง?

เราทุกคนเป็นคนทั้งสองสถานะ บางโอกาสเป็นคนใช้ ในหลายครั้งก็เป็นคนสร้าง … เมื่อเราเป็นคนใช้เราย่อมอยากได้ความง่ายความสะดวกซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการลงทุนลงแรงของคนสร้าง — เรารู้ดีอยู่ใช่มั้ย?

ถ้ากลับกันล่ะ … เมื่อเราเป็นสร้างเรารู้ดีอยู่ใช่มั้ยว่าคนใช้ที่ปลายทางก็คาดหวังแบบเดียวกับเรา … เรารู้ดีอยู่ใช่มั้ยว่าหน้าที่ของเราคือทำงานยากเพื่อให้คนใช้สะดวกสบาย — รู้แล้วก็ตามนั้น

ถ้ามีคนในทีมเราบ่นว่า “โห มันยากจัง” — ถามกลับเขาไปว่า “ยากกับใคร?”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *