สมมติตัวเองว่าเราเป็นโค้ชเทนนิส เรารับผิดชอบฝึกเด็กในอะคาเดมี่ 10 คน เมื่อทำความรู้จักกันเป็นครั้งแรกแล้ว เราเริ่มต้นให้หนูๆเหล่านี้หยิบไม้เทนนิสขึ้นมาลองเหวี่ยงวงสวิงโฟร์แฮนด์
สามคนหยิบแร็กเกตด้วยมือซ้าย อีกเจ็ดคนใช้มือขวา
คำถามคือ … เป้าหมายปลายทางของเราคือฝึกให้ทุกคนสามารถตีเทนนิสได้ทั้งสองมือหรือปั้นให้แต่ละคนเก่งกาจด้วยมือที่เขาถนัดมาตั้งแต่เกิด?
ไม่มีโค้ชคนไหนเลือกข้อแรกอยู่แล้ว
แต่ทำไมกับงานในออฟฟิศ เราถึงอยากให้ทุกคนเก่งหลายเรื่อง (หรือทุกเรื่อง)? ทำไมเราถึงคิดว่าคนที่เก่งกว่าคือคนที่ทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่า?
ที่สำคัญที่สุด … ทำไมถึงเชื่อว่าทีมงานที่ดีที่สุดคือทีมงานที่เก่งรอบด้าน?
ย้อนกลับไปที่เทนนิส หรือกับทุกกีฬา … คนที่เก่งที่สุด คนที่เป็นผู้ชนะคือคนที่ต้องมีจุดแข็งอะไรสักอย่างที่เหนือกว่าคนอื่น ไม่ใช่คนที่ทำได้ทุกอย่างแบบกลางๆ
เมื่อมองที่จุดนี้ มันแสดงให้เห็นว่าในการสร้างและพัฒนาคนขึ้นมาสักคนหนึ่ง การเอาเวลาไปแก้ไขจุดอ่อนนั้นจะให้ผลที่น้อยกว่าการเอาเวลาไปสร้างความแข็งแกร่งให้จุดแข็งของเรามากอย่างเทียบกันไม่ได้
ทุกคนไม่เหมือนกัน ทุกคนมีความเฉพาะตัว ทุกคนมีจุดแข็งไม่เหมือนกัน และจุดอ่อนก็ต่างกัน ปัญหามันจะเกิดขึ้นเมื่อเราพยายามทำให้ทุกคนเก่งทุกเรื่อง และเป็นเรื่องเดียวๆกัน
- การเข้าเทรนในคอร์สเดียวกัน
- การสร้างแผนการพัฒนาทักษะของทีมงานที่เป็นพิมพ์เขียวเดียวกัน
สองกระบวนการนี้ดูเหมือนดีแต่จริงๆแล้วแย่ เพราะมันเป็นแผนที่ละเลยความเป็นปัจเจกบุคคลของทีมงาน ละเลยความสนใจ ละเลยแรงผลักดันภายในของแต่ละคน
สิ่งที่ควรจะทำในฐานะผู้นำคือการสร้าง “ทีม” ที่เก่งรอบด้าน ทีมคือการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน
ทีมที่เก่งรอบด้านเป็นไปได้ อย่างทีมฟุตบอลที่ต่างคนต่างเก่งในหน้าที่ของตัวเอง และเมื่อรวมตัวกันแล้วเราจึงเป็นทีมฟุตบอลที่แข่งขันได้ในระดับสูง
เราต้องการคนที่เก่งจริงในเรื่องที่ตัวเองต้องทำ เราต้องการคนที่มองเป้าหมายเดียวกัน เราต้องการคนที่แบ่งปันความเชื่อเดียวกัน
แล้วหน้าที่ของเราคือการมองให้ออกว่าแต่ละคนจะมีบทบาทหน้าที่และสนับสนุนให้ทีมเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร เราต้องมองหาช่องว่างและปิดจุดอ่อนให้ครบทุกมุมด้วยการเลือกคนที่เหมาะสมจากจุดแข็งของเขา (ไม่ใช่พยายามพัฒนาจุดอ่อนของคนเดิมให้มาเติมเต็มส่วนที่ขาด)
นั่นคือยิ่งสมาชิกในทีมของเรามีความแตกต่างและหลากหลายของบุคลิกภาพและทักษะมากเท่าไรยิ่งดี เพราะเรายิ่งได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น ยิ่งแตกต่างเรายิ่งขาดกันและกันไม่ได้
ไม่ใช่พยายามจะทำให้ทุกคนเหมือนกันด้วยความเชื่อผิดๆที่ว่า “พนักงานที่ดีคือพนักงานที่เก่งรอบด้าน”