บทสนทนาระหว่างคุณเอ (นามสมมุติ เพื่อนใหม่ที่เพิ่งพบกันในงานสัมมนา) กับผม
คุณเอ: “ทำอะไรอยู่ครับ?” … เขาอยากรู้ว่าผมทำมาหากินอะไร
ผม: “ก็ทำพวกซอฟต์แวร์อะครับ” … ผมตอบแบบกลางๆ
คุณเอ: “หรอครับ เป็นโปรแกรมเมอร์หรอครับ?” … ล้วงลึกลงไปอีกนิดนึง
ผม: “ครับ ก็ประมาณนั้นครับ” … ถึงแม้ผมจะเลิกเขียนโค๊ดมานานแสนนานแล้ว แต่เพื่อความรวบรัดผมขอกลับมาเป็นโปรแกรมเมอร์อีกครั้งแทนที่จะตอบตามความจริงว่า ผมเป็นโปรเจกต์ เมเนเจอร์ หรือโปรดักท์ โอนเนอร์ เป็นบิสสิเนส อะนาลิส เป็นดีไซเนอร์ เป็นเทสเตอร์ เป็นเดฟออพส์
คุณเอ: “โห เก่งจังเลยนะครับ” … ทึ่งในความสามารถของผมอย่างออกหน้าออกตา
ผม: “แหะๆ ครับ” … (คือไม่ได้เก่งอะไรขนาดนั้นเล้ยยยย)
บทสนทนาสมมุติที่มีความจริงเจือปน ส่วนใหญ่เวลาผมพบเพื่อนใหม่หรือพูดคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในวงการนี้ ผมจะเป็นโปรแกรมเมอร์ครับเพราะโลกภายนอกลิ้งค์คำว่าซอฟต์แวร์กับโปรแกรมเมอร์ได้ชัดเจนที่สุด และปฏิกิริยาตอบสนองจากคู่สนทนาของผมมักจะแสดงถึงความชื่นชมว่าการเป็นโปรแกรมเมอร์นั้นยากและเก่ง
นั่นคือความเชื่อที่ทำให้เกิดการตัดขาด (Disconnection)
- ซอฟต์แวร์คือโปรแกรมเมอร์ และ
- โปรแกรมเมอร์คือซุปเปอร์แมน
เมื่ออยากได้ซอฟต์แวร์ เจ้าของบริษัท (เจ้าของโรงงาน เจ้าของโรงแรม เจ้าของอู่ซ่อมรถ เจ้าของเงินทุน) จะนึกถึงโปรแกรมเมอร์เป็นคนแรก … และคนเดียว
“ผมอยากได้โปรแกรมเมอร์”
จากเจ้าของถึงโปรแกรมเมอร์คือหลุมดำขนาดใหญ่ที่เกิดจากการตัดขาด คือช่องว่างที่โปรแกรมเมอร์มีหน้าที่ต้องทำให้มันแคบลงด้วยตัวเอง … ใครขุดหาและวิเคราะห์รีไควเม้นท์ ใครออกแบบยูไอ ใครเขียนโค๊ด ใครเทสระบบ ใครจัดการเซิร์ฟเวอร์ ใครรับงานซัพพอร์ต ใครวางแผนโปรเจกต์ … จะมีใครล่ะ?
“ผมอยากได้โปรแกรมเมอร์คนใหม่ คนนี้ไม่เก่ง ทำงานไม่ดี”
และโปรแกรมเมอร์ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เหมือนถูกมัดมือชกเพราะถูกตั้งความหวังไว้ว่าต้องทำงาน 25 อย่างพร้อมกันให้ออกมาดี … ซุปเปอร์แมนยังทำไม่ได้เลย
จริงอยู่ที่คุณภาพของโปรแกรมเมอร์มีผลโดยตรงต่อการปิดช่องว่างตรงนั้น คนเก่งมีโอกาสทำงานได้ดีกว่า คนมีประสบการณ์มีโอกาสทำงานได้เร็วและรอบคอบกว่า แต่ซอฟต์แวร์ไม่ใช่เรื่องของวันแมนโชว์ ไม่ใช่วันโปรแกรมเมอร์โชว์
โปรแกรมเมอร์ไม่ได้เก่งทุกเรื่อง โปรแกรมเมอร์ต้องการคนช่วยคนสนับสนุนและในบางกรณีคนให้คำแนะนำ นั่นคือแนวทางที่ถูกต้องในการลดช่องว่างของการตัดขาดลง
“โปรแกรมเมอร์คนนี้ไม่เก่ง ทำงานไม่ดี” — ก่อนคิดและพูดแบบนี้ ลองพิจารณาดูอีกสักนิดว่าตอนนี้หลุมดำข้างหน้านั้นกว้างใหญ่และลึกขนาดไหน