เราต้องการรู้เดดไลน์ไปเพื่อสี่เหตุผล
1️⃣ เพื่อทุ่มเทพลังงานทั้งหมดเพื่อทำงานนี้ให้เสร็จตามกำหนด
2️⃣ เพื่อพิจารณาเพิ่มงานอื่นเข้าไปในกรณีที่ยังพอมีเวลาเหลือ
3️⃣ เพื่อพิจารณาลดจำนวนงานที่จำเป็นลงเพื่อรักษาเดดไลน์นั้นไว้
4️⃣ เพื่อยอมแพ้และหยุดทุกอย่างไว้เพียงเท่านี้
สำหรับผมเอง ข้อสามคือเหตุผลสำคัญที่สุดที่ผมอยากจะรู้เดดไลน์ และมันเป็นเทคนิคที่ผมใช้บ่อยที่สุดเมื่อผมรู้เดดไลน์ มันยากมากถึงมากที่สุดที่เราจะมีปริมาณงานเหมาะสมกับระยะเวลาที่ถูกกำหนดมา มันไม่เคยสมดุลและร้อยละ 95 เราจะมีงานมากเกินที่จะรับไหว
นั่นคือประเด็นสำคัญที่ผมใช้เดดไลน์ให้เป็นประโยชน์ ส่วนตัวผมเองนั้นไม่เชื่อในการลุยงานหนักแบบไม่ลืมหูลืมตาเพื่อทำให้งานเสร็จครบถ้วนตรงเวลา ผมไม่เชื่อว่ามันควรจะเป็นทางเลือกแรกที่เราจะคิดถึง (แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่มักเลือกวิธีนี้) ผมเชื่อในการทำงานอย่างมีสติสมเหตุสมผลและเน้นประสิทธิภาพมากกว่า การเลือกใช้ข้อสามจึงดูเข้าท่าที่สุดเพราะผมเชื่อเสมอว่าเรามีงานเกินจำเป็นและเราต้องการซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนมากเกินไปเสมอ ผมจึงชอบที่จะตัด ตัด และตัดงานให้น้อยลงๆเรื่อยๆจนมาฟิตพอดีๆกับเดดไลน์
เริ่มสัปดาห์แรกผมคิดว่าทำได้ครบ 10 ฟีเจอร์ ผ่านมาหนึ่งเดือนผมคิดว่าเต็มที่คงได้แค่ห้า มันปกติมากๆ มันเป็นเรื่องที่เราต้องคิดและเตรียมการไว้บ้างด้วยการเช็คความคืบหน้าของงานโดยรวมบ่อยๆ เช็คปัญหาและอุปสรรคใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า และที่สำคัญคือเราต้องมีการจัดและปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญของแต่ละงานอย่างต่อเนื่อง
เพราะเดดไลน์จะไม่ยอมแพ้ให้เราง่ายๆ ไม่ว่ากับใครเดดไลน์จะแข็งแกร่งกว่าเสมอ ผมคิดว่าการต่อต้านแรงโน้มถ่วงตรงนี้ไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีเท่าไร ผมเลือกที่จะลู่ไปตามลม ปรับตัวตามสถานการณ์ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยจะดีกว่า 🏖