ว่ากันว่าจะทำงานอะไรให้ออกมาดีเราต้องใส่เกิน 100
นิยามการใส่เกิน 100 ไว้แบบไหน?
แบบแรก … แบบมาราธอน 🏃🏽♀️
มีใครทำแบบนี้ได้บ้าง? มีใครที่วิ่งเต็มสปีดตั้งแต่เสียงนกหวีดดัง … วิ่งด้วยความเร็วคงที่แบบนั้นไปจนเข้าเส้นชัย มีใครเคยเอาชนะการวิ่งมาราธอนด้วยวิธีการนี้มั้ย?
แบบสอง … แบบสปริ้นท์ 🏎
ไต่ความเร็วจากเกียร์หนึ่งถึงเกียร์ห้าภายในระยะเวลาสั้นๆ วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดในช่วงเวลาไม่นาน จบแล้วพัก … ก่อนเริ่มต้นวงจรการสปริ้นท์แบบนี้ใหม่
ความแตกต่างของการใส่เกิน 100 สองแบบนี้คือ
- ระยะเวลา … เพราะการวิ่งแบบสปริ้นท์เป็นการทำงานในช่วงเวลาสั้นๆ การเร่งและคงสภาพความเร็วที่เกิน 100% นั้นยังอยู่ในวิสัยที่ร่างการมนุษย์ทนทานได้
- การหยุดพัก … เพราะการวิ่งแบบมาราธอนนั้นหยุดพักไม่ได้ ระยะทางมันยาวเกินไปและมันก็ใช้พลังงานมากเกินไป
การทำงานแบบใส่เกิน 100 ในระยะทางที่ไกลเหมือนวิ่งมาราธอนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางที่ใครจะรักษาสภาพร่างกายสมองและจิตใจให้อยู่ในระดับสูงสุดได้นานขนาดนั้น … นี่คือความจริง
และเมื่อเรายังคงถูกบังคับให้วิ่งทั้งที่เหนื่อยล้า (เพราะมาราธอนพักกลางทางไม่ได้) และเมื่อเราไม่ได้ทำงานบนสภาพที่ดีที่สุด … นั่นคือต้นกำเนิดของความผิดพลาด
ขอบเขตของความผิดพลาดมันกว้างมาก ใครที่ทำงานเป็นดีเวลลอปเปอร์หรือเทสเตอร์มาสักพักจะรู้ดี … ใจลอยนิดเดียว เสียสมาธิชั่วขณะ ง่วงเหนื่อยและเพลีย การทำงานด้วยสภาพความพร้อมที่ 75% ก็สร้างความผิดพลาดได้แล้ว
เกิน 100 เป็นเรื่องดีเพราะงานที่มีคุณค่าต้องการการทุ่มเทอย่างจริงจัง แต่อย่าใช้วิธีการวิ่งมาราธอนมาเป็นต้นแบบ … เราต้องเป็นนักวิ่งระยะสั้นที่มีการกำหนดเส้นชัยที่เป็นไปได้ เราต้องเป็นนักวิ่งระยะสั้นที่มีจังหวะหยุดพักเพื่อฟื้นฟูร่างกายสมองและจิตใจ
ผมไม่เคยทำงานแบบมาราธอนเพราะผมรู้ว่าร่างกายผมรับไม่ได้ … เมื่อพูดถึงสปริ้นท์สำหรับตัวเอง … สามชั่วโมงก็เต็มที่แล้วและผมต้องหยุดพัก อีกหนึ่งชั่วโมงค่อยว่ากันใหม่ 😪😴