ว่ากันว่าการตั้งราคาเป็นศิลปะครึ่งหนึ่ง วิทยาศาสตร์ครึ่งหนึ่ง
เรื่องราวที่น่าสนใจและเก็บไปคิดพิจารณาคือแนวทางที่ว่า “อย่าตั้งราคาที่ขัดขวางการใช้งานที่เกิดประโยชน์ของลูกค้า”
เช่น การคิดราคาตามจำนวนผู้ใช้ … ถ้าผู้ใช้เพิ่มก็ต้องจ่ายเพิ่ม ลูกค้าก็อาจจะไม่อยากเพิ่มคนเข้ามาในทีม กลายเป็นประโยชน์ไม่เกิดขึ้นสูงสุด หรือบางรายก็คิดวิธีการแปลกประหลาดด้วยการสร้างยูเซอร์เดียวขึ้นมาแชร์กันซะเลย
หรือการคิดราคาตามจำนวนการใช้งาน จำนวนทรานแซกชั่น สร้างแล้วคือเสียเงินเพิ่ม ถ้าใช้แล้วก็ต้องจ่ายเพิ่ม ผิวเผินดูเหมือนจะแฟร์ดี ใช่ มันแฟร์ แต่บางทีเราก็ไม่อยากจ่ายเพิ่มนะ เราเลยไม่อยากใช้เพิ่ม ไม่อยากใช้มากไปกว่านี้ ไม่อัพเกรดดีกว่า เป็นต้น
การตั้งราคาที่ไม่ขัดขวางเกิดได้จากการที่เรากำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญต่อคำว่า “ความสำเร็จ” ของโปรดักท์เราขึ้นมาก่อน
ถ้าเราวัดผลงานเราด้วย “จำนวนการใช้งานต่อวัน” เราไม่ควรคิดราคาตามจำนวนการใช้งานต่อวัน แต่เราควรเลี่ยงไปที่ปัจจัยอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านเวลา เช่น
สมมติว่าเราทำระบบส่งอาหาร เราวัดผลจากจำนวนคร้ังการสั่งอาหารของลูกค้า เราจะไม่เลือกคิดเงินตามนั้น แต่เราตั้งราคาแปรผันตาม “ความเร็ว” ที่ลูกค้าจะได้อาหาร
สมมติว่าเราทำระบบเรียกใช้บริการแท็กซี่ เราจะไม่จำกัดจำนวนทริปการเดินทางที่สร้างได้ต่อวันหรือต่อเดือน แต่เราจะเลือกใช้ “ความเร็ว” ในการเข้าถึงบริการของผู้โดยสารด้วยการจำกัดจำนวนการล็อกอินพร้อมกันของพนักงานขับรถ ผู้โดยสารเรียกบริการได้ไม่จำกัด แต่ถ้าพนักงานมีน้อย ก็ต้องรอนานหน่อย
ถ้าต้องการให้บริการเร็วขึ้น ก็เลือกที่จะเพิ่มจำนวนการล็อกอินพร้อมกันไปอีก
การใช้ปัจจัยข้างเคียงมาช่วยในการพิจารณาการตั้งราคาจะช่วยให้เราเห็นภาพอีกมุมหนึ่งที่ไม่ขัดขวางการหาประโยชน์จากระบบของเรา
ซอฟต์แวร์ควรจะสร้างประโยชน์สูงสุดเสมอ เราจะไปจุดนั้นได้หรือไม่ กลยุทธ์ราคามีส่วนอย่างยิ่ง