“ผมทำ … ของ … ครับ” เติมคำในช่องว่างได้ว่า
- “ผมทำยูไอของเวปนี้ครับ”
- “ผมทำโมบายให้แอพนั้นครับ”
- “หนูทำคอร์เอ็นจิ้นให้เซอร์วิสตัวนู้นค่ะ”
ความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง เน้นเชิงลึกมากกว่าแนวกว้างที่มีความหลากหลาย
มันเป็นเรื่องที่น่าคิด เป็นความรู้สึกที่ว่า “ทุกวันนี้พวกเรามีหน้าที่รับผิดชอบน้อยไปรึเปล่า?” เมื่อมีสมาชิกในทีมหลายคน คนในองค์กรหลายชีวิต ตัดนู่นตัดนี่ก็เหลือแค่ “ฉันทำงานนี้ให้โปรดักท์นั้น” กลายเป็นการตีกรอบความสามารถและความรับผิดชอบไปโดยปริยาย
ด้วยเหตุนี้ความรู้สึกที่ว่า “เรามีคนมากเกินความจำเป็น” ก็พอจะมีเหตุผลอยู่ เพราะถ้าการจัดการดีคนหนึ่งคนอาจจะดูแลโปรดักท์ได้สองตัว … คนสามคนอาจจะรับผิดชอบงานของห้าโปรดักท์ได้สบายๆ (ก็คงไม่สบายขนาดนั้นหรอก แค่สบายแบบกำลังดี)
จากเดิมที่เคยทำงานให้ทีมแค่ทีมเดียวดูแลงานแค่ส่วนเดียว เมื่อลองเปลี่ยนแกนความรับผิดชอบมาเป็นแบบโครงข่ายดูบ้าง เมื่อคนหนึ่งคนดูแลงานหลายส่วนที่มาจากหลายโปรดักท์ ความรับผิดชอบจะถูกกระจายออกแต่เพิ่มความเข้มข้นขึ้น
- ฉันจะแก้โค๊ดลวกๆแบบนี้ไม่ได้เพราะมันจะกระทบส่วนนั้นที่ฉันเป็นเจ้าของร่วม
- ฉันจะละเลยการเทสตรงนี้ไม่ได้เพราะกลัวว่าเซอร์วิสนั้นจะทำงานผิดพลาด
ในอนาคตโครงสร้างของทีมโปรดักท์ควรจะยุ่งเหยิงแต่มันเป็นความยุ่งที่แข็งแรง — ความรู้ ประสบการณ์ ความหลากหลาย ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แบ็คอัพ และซัพพอร์ต
นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเรามีสมาชิกในทีมน้อยแต่ทุกคนพร้อมเรียนรู้และโตไปด้วยกัน … ดูมั่วๆแต่มันคือการสร้างพันธะทางเคมีที่จะแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ … มันเป็นความมั่วที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีนั่นเอง