บางคนเข้าใจว่าการประชุมเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยหาคำตอบหรือข้อตกลงบางอย่าง … ไม่ผิด
บางคนเข้าใจว่าการประชุมในรูปแบบระดมสมองนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีเมื่อต้องการผลิตวิเคราะห์และเลือกไอเดีย … ก็โอเค
แต่บางคนเข้าใจว่าเบรนสตอร์มเซสชั่นนั้นไม่จำเป็นต้องเตรียมตัว ไม่ต้องคิดล่วงหน้า ปล่อยวางและทำสมองให้โล่งไว้ก่อนเดินเข้าห้องประชุม … อันนี้ผิดมหันต์และมันคือที่มาของคำถามที่อันตรายมากในห้องประชุม
“เราจะทำอะไร (ยังไง) กันดี?”
การประชุมไหนที่เริ่มต้นด้วยคำถามนี้มีโอกาสสูงที่จะจบไม่สวย … ใช้เวลานานเกินจำเป็น ไร้ประสิทธิภาพใดๆ ไม่ได้ข้อสรุปเป็นเรื่องเป็นราว พายเรือในอ่างก่อนทิ้งท้ายว่า “เดี๋ยวพรุ่งนี้มาคุยกันต่อ”
ทำไม? … เพราะมันไร้ทิศทาง ไร้กรอบระเบียบทางความคิด ไร้วิสัยทัศน์ และจะออกแนวไร้สาระไปเรื่อย
ทางเลือกที่ดีกว่าคือเราต้องเตรียมตัว ต้องศึกษา และต้องให้ความเคารพกับเวลาของคนอื่นให้มากกว่านี้ คนเรียกประชุมต้องรู้รายละเอียดของวาระการประชุม ต้องรู้ปัญหา ต้องรู้เป้าหมาย ต้องรู้สถานการณ์ และที่สำคัญที่สุดต้องเตรียมความคิดและแนวทางของตัวเองให้ชัดเจน (อย่าขี้เกียจ)
“นี่คือปัญหานะครับ …. ว่าไป”
“ส่วนทางแก้ที่ผมคิดไว้ก็เป็นประมาณนี้ครับ … ว่าไป”
“ขอความคิดเห็นด้วยครับ”
เราต้องเริ่มต้นด้วยการตีกรอบความคิด เราต้องนำเสนอสิ่งที่เราคิดว่าเหมาะสม เราต้องเข้าประเด็นทันที แล้วเปิดรับความคิดเห็นจากคนอื่นเพื่อปรับปรุงจากไอเดียตั้งต้นนั้น