💼 หน้าที่การงานและการเมือง

ไม่มีบริษัทขนาดกลางและใหญ่ที่ไหนที่ไม่มีเรื่องการเมืองภายใน และไม่มีพนักงานคนไหนที่จะหลีกเลี่ยงเรื่องการเมืองเหล่านี้ไปได้ … สิ่งเดียวที่แตกต่างกันคือเราจะได้รับผลกระทบจากมันมากน้อยแค่ไหน คำตอบต่อคำถามนี้อยู่ที่ระยะห่างระหว่างตัวเรากับศูนย์กลางทางการเมือง

1️⃣ รูปแบบบริษัท

ด้วยประสบการณ์ทำงานไม่หลากหลายแต่ก็พอจับสังเกตอะไรมาได้บ้าง

เมื่อมามองในรายละเอียดแล้วจะเริ่มเห็นเหตุผลของสิ่งที่เกิดขึ้น กับบริษัทข้ามชาติตัวเรามักอยู่ไกลกับเรื่องการเมืองมาก ไกลจนแทบไม่ได้รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนใดๆ ที่เป็นแบบนี้เพราะคำว่าอำนาจและกับบริษัทข้ามชาติแล้วสำนักงานในประเทศไทยก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งในสายตาบริษัทแม่ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่จำกัดด้วยขอบเขตอำนาจที่จำกัด งานหลักคือทำตามสิ่งที่สำนักงานใหญ่กำหนดมา คนที่มีอำนาจกำหนดแนวทางกำหนดกฎเกณฑ์กำหนดโครงการที่ต้องทำนั้นเป็นคนต่างชาติที่อยู่ต่างประเทศทั้งหมด พวกเขาสั่งพวกเราทำจบแค่นั้น อำนาจไม่ถูกแบ่งปันลงมาถึงคนอื่น และนี่แหละคีย์เวิร์ด … เมื่อไม่มีอำนาจก็ไม่มีคนที่จะพยายามแย่งชิงอำนาจ การเมืองจึงไม่รุนแรง การแข่งขันภายในแบบผิดๆจึงไม่เป็นที่นิยม ทุกคนก็ทำงานกันไปตามหน้าที่

ตัดฉากมาที่บริษัทใหญ่ในประเทศแล้วเราจะเห็นความแตกต่างอย่างกลับหัวกลับหางเลย อำนาจทั้งหมดอยู่ที่นี่ อยู่ในมือคนในสำนักงานเดียวกัน อำนาจที่วิ่งวนเวียนอยู่ในอาคารและห้องประชุมเดียวกัน … เมื่อมีอำนาจก็มีคนหมายปองที่จะครอบครองมันอย่างเบ็ดเสร็จ ความวุ่นวายจึงบังเกิด และมันจะเป็นเรื่องยากมากที่เราจะลอยตัวไม่รับรู้ถึงแรงกระแทกนี้ งานที่ไม่ถูกอนุมัติ (เพราะอีกฝ่ายเสียประโยชน์) งานที่ถูกยกเลิกกลางคัน (เพราะไม่เป็นที่ถูกใจผู้ที่มีอำนาจสูงกว่า) ทีมที่ถูกยุบและควบรวมตามใจฉัน (เพราะการสลับสับเปลี่ยนเป้าหมายอย่างกระทันหัน) และอื่นๆอีกมาก เราเป็นคนทำงานคนนึงที่ไม่มีอำนาจอะไรเราจึงพลอยโดนหางเลขไปด้วย

2️⃣ ตำแหน่งหน้าที่

จะโดนมากโดนน้อยขึ้นกับลักษณะและตำแหน่งหน้าที่ด้วย

  1. ตำแหน่งหน้าที่ที่สามารถทำงานให้เสร็จสิ้นได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น ตำแหน่งงานคือทุกตำแหน่งที่ขึ้นต้นด้วย “จูเนียร์” เพราะเราไม่ต้องรับผิดชอบดูแลใคร เราไม่ต้องตัดสินใจอะไร และเราจะอยู่ได้สบายๆด้วยการทำงานของเราให้เสร็จแค่นั้น — คนที่อยู่ในตำแหน่งแบบนี้จะโดนผลกระทบจากปัญหาการเมืองน้อยที่สุด
  2. ตำแหน่งหน้าที่ที่สามารถทำงานให้เสร็จสิ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนที่อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า ตำแหน่งงานแบบนี้อยู่ก้ำกึ่งระหว่างจูเนียร์และหัวหน้าทีม เรียกว่าเป็น “ซีเนียร์” ก็ได้ คนที่อยู่ในตำแหน่งนี้จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบมากกว่าแค่งานของตัวเองขึ้นมาอีกนิดนึง งานเราเสร็จแต่งานของทีม (และน้องๆในทีม) ไม่เสร็จเราก็จะไม่แฮปปี้ อย่างไรก็ตามเรายังเป็นแค่คนตัวเล็กๆที่ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจอะไรใหญ่โต ไม่ต้องไปขอความร่วมมือจากคนที่ตำแหน่งสูงกว่าให้มาช่วยผลักดันโครงการ ผลักดันไอเดียใดๆ — คนที่อยู่ในตำแหน่งแบบนี้จะโดนผลกระทบหนักขึ้นมาอีกนิดนึง
  3. ตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องการความร่วมมือจากทั้งคนที่ตำแหน่งต่ำกว่าและสูงกว่า มองกลุ่มนี้ว่าเป็นคนที่มีตำแหน่งที่ลงท้ายด้วย “- ลีดเดอร์”, “- เมเนเจอร์” รวมถึง “- ไดเรกเตอร์” ถ้าเราเป็นคนกลุ่มนี้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะทำงานทั้งหมดเสร็จได้ด้วยตัวเอง ทางเดียวที่เราจะจัดการงานที่รับผิดชอบให้ลุล่วงไปได้นั้นคือการได้รับความร่วมมืออย่างดีจากน้องๆในทีมและหัวหน้างานที่มีตำแหน่งสูงขึ้นไป เช่น เราเป็นโปรเจกต์ เมเนเจอร์ที่อยากให้งานเสร็จตรงเวลา เราต้องมีทีมที่คอยสนับสนุนทำงานให้เราอย่างเต็มที่ตามระยะเวลาที่กำหนดพร้อมๆกับการต้องมีหัวหน้าที่เข้าใจกระบวนการและไม่บีบบังคับให้ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ — คนเหล่านี้จะโดนหนักสุดเจ็บตัวสูงสุดและหดหู่แบบเหนือคำบรรยาย

ทั้งรูปแบบบริษัทและตำแหน่งหน้าที่จะเป็นตัวกำหนดระยะห่างระหว่างการเมืองภายในกับตัวเราซึ่งจะเป็นตัวกำหนดอัตราความรุนแรงของผลกระทบที่เราจะได้รับอีกต่อหนึ่ง

ไม่เลย ไม่มีทางที่เราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไม่ว่าจะเป็นใครและกับบริษัทไหน มันคือสัจธรรมว่าที่ไหนมีอำนาจที่นั่นต้องมีการเมือง สิ่งเดียวที่เราทำได้คือมองมันอย่างเข้าใจ ค้นหาคำตอบว่าทำไมเราถึงตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้และมองหาความเปลี่ยนแปลง …

ความเปลี่ยนแปลงครั้งหน้าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราพยายามมองให้ทะลุว่าเรากำลังจะเดินกลับเข้าไปในวังวนการเมืองน้ำเน่าแบบเดิมๆหรือไม่ (บริษัทใหญ่ไทยแลนด์ … กับตำแหน่งที่ลงท้ายด้วย “- เมเนเจอร์”)

ป.ล. มีหลายคนไม่มีปัญหากับการใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องพวกนี้ ยินดีด้วยมากๆเพราะสิ่งที่เราจะได้กลับมาจากการทำงานกับบริษัทใหญ่คือความมั่นคงและความก้าวหน้าตามลำดับขั้น … ถ้าใครพอใจกับแบบนี้ก็อยู่ยาวไป สบายดี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *