ถ้าบทสนทนาระหว่างตัวเรากับเพื่อนต่างบริษัทเป็นดังนี้ …
“เป็นไงบ้าง งานใหม่ เดินทางลำบากมั้ย?” — เราถาม
“ก็นิดนึง หลายต่อหน่อย” — เพื่อนตอบ
“ที่ออฟฟิศมีที่จอดรถให้มั้ยหละ?” — ผมถามต่อ
“ก็มีนะ แต่ไม่ช่วยค่าที่จอดรายเดือาเลย เขาช่วยแต่ระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการขึ้นไป” — เพื่อนตอบกลับมา
“หรอ พูดถึงเรื่องนี้นะ คิดๆแล้วก็รู้สึกแปลกๆ แปลกที่ว่าคนระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการต้องเงินเดือนเยอะแล้วนะ จะไปช่วยจ่ายค่าที่จอดรถอีกทำไม ทำไมไม่ช่วยเด็กๆพนักงานทั่วไปที่เงินเดือนน้อยๆ?” — ถ้าเราแสดงความเห็นไปแบบนี้แล้ว …
“เออ ก็จริง แต่ถ้ามองมุมของบริษัทเค้าอาจจะคิดว่านี่เป็นสวัสดิการสำหรับผู้บริหารมั้ง อีกอย่างเขาอาจจะคิดว่าเด็กๆพนักงานทั่วไปอย่างเราจะขับรถมาให้มันเปลืองทำไม จอดไว้บ้านแล้วใช้บริการรถสาธารณะแหละดีแล้ว” — เพื่อนผมก็แชร์ความคิดเห็นอีกมุมกลับมา
มันเป็นความสุขเล็กๆอย่างนึงที่ได้ลองคิดอะไรในมุมกลับ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนที่มีมุมมองต่างไปจากเราในเรื่องเดียวกัน
คำว่า “ในมุมกลับกัน” ควรจะถูกหยิบยกมาใช้อยู่เสมอเพื่อเปิดโอกาสให้เรารีเซ็ตสมมติฐานเดิมเพื่อสร้างสมมติฐานใหม่ที่อาจจะกลายเป็นทางแก้ปัญหาที่ดีกว่าก็ได้
- เราอาจจะไม่ให้สวัสดิการที่จอดรถฟรีแก่ผู้บริหารแต่ให้กับพนักงานทั่วไป
- เราอาจจะไม่ต้องการอินพุทจากผู้ใช้ตรงนี้แต่หาทางทำให้ระบบมันคำนวณและดำเนินการให้เลยแบบอัตโนมัติ
- เราอาจจะไม่ทำแอปรีวิวร้านอาหารอร่อยๆแต่สร้างแอปที่เอาไว้เก็บประวัติร้านอาหารที่รสชาติไม่ได้เรื่อง วันหลังจะได้ไม่พลาดอีก
ในตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ดีหรอก แค่เป็นเรื่องที่น่าคิดและพิจารณาต่อ
เมื่อฟังข้อมูลมาแล้วก็อย่าเพิ่งรีบเออออห่อหมกกับคนพูดไป ลองคิดและมองหาสมมติฐานในมุมกลับกันดูบ้าง … เป็นเรื่องสนุก บริหารสมอง และอาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้เราเข้าถึงโลกอีกมุมที่เราไม่เคยมองเห็นก็เป็นได้