🙏🏼 ยังมีทางเลือก

ถ้าเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่มืดมนและสับสนกับคำว่าโปรเจกต์ เมเนเจอร์ในตอนนี้ จะเพราะตัวเองเริ่มเบื่อหน่ายกับงานแนวนี้แล้ว หรือเพราะสภาพแวดล้อมนั้นไม่เหมาะสมกับตัวเอง หรืออาจจะเป็นเพราะเราไร้ความสามารถที่จะจัดการงานในมือให้ออกมาดีได้ … เราจะผ่านมันไปได้ถ้าเราบอกตัวเองแบบนี้

  1. อย่าเพิ่งเสียความมั่นใจ
  2. ห้ามเสียความเป็นตัวเอง
  3. เราคือคนเดิมที่กำลังดำเนินชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

เมื่อเราสรุปได้ดังนี้ สิ่งแรกที่เราควรทำคือเดินไปคุยกับหัวหน้างานเพื่อขอย้ายตำแหน่ง ทำไม? เพราะเปลี่ยนที่อยู่ของตัวเองง่ายกว่าเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมมาก อย่าคิดจะเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เสียแรงและเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ … เมื่อคนดีต้องดวลเดี่ยวกับระบบที่แย่ ระบบจะชนะเสมอในทุกครั้ง เราต้องเปลี่ยนที่อยู่เพื่อรักษาความเป็นตัวเองทั้งร่างกาย, จิตใจ, และจิตวิญญาณไว้ และเมื่อมันผ่านไป เราจะขอบคุณตัวเองที่เลือกตัดสินใจแบบนี้

องค์ความรู้ก็เรื่องนึง ประสบการณ์ก็เรื่องนึง โปรเจกต์ เมเนเจอร์คือคนที่ถูกวัดผลงานด้วยผลงานของคนอื่น เราจะสำเร็จได้ก็เพราะคนอื่นทำงานของตัวเองสำเร็จ และถ้าเรารู้อยู่แล้วว่าเราไม่สามารถพึงพาคนรอบข้างได้ … ความพยายามของเราจะเกิดผลได้อย่างไร?

ความเชื่อเรื่องการผลักดัน โปรเจกต์ เมเนเจอร์ให้มีหน้าที่ต้องไดร์ฟทีมงานนั้นผิด หลายคนชอบพูดกันแบบนี้ ไดร์ฟคืออะไร? ทำไมต้องไดร์ฟ ถ้าเราเป็นมืออาชีพเราควรต้องรู้จักรับผิดชอบด้วยตัวเองอยู่แล้วรึเปล่า? เราเคยตั้งคำถามแบบนี้กับคนรอบข้างบ้างรึเปล่า?

เราไม่ความเชื่อเรื่องการตามจิกกัดเพื่อไล่ล่าความคืบหน้าของงาน เหมือนเดิม ทำไมต้องจิก ทำไมต้องกัด ทำไมต้องบีบบังคับ ทั้งหมดนี้มันส่งสัญญาณออกมาว่า “บริษัท, องค์กร หรือทีมนี้มีปัญหาเรื่องการทำงานที่หยั่งรากลึกกว่าที่เห็นมาก และโปรเจกต์ เมเนเจอร์เพียงคนเดียวไม่สามารถช่วยอะไรได้”

เราต้องให้คุณค่ากับคำว่า “ผู้สร้าง” เราต้องมองว่าเราอยู่ตรงนี้แล้วเราจะสร้างอะไรได้บ้าง ไม่ใช่สร้างโปรเจกต์แพลน (มันไร้ประโยชน์) ไม่ใช่สร้างสเตตัสรีพอร์ต (มันไม่มีคนอ่าน) ไม่ใช่สร้างการประชุมรายสัปดาห์ (มันเสียเวลา)

สร้าง …

  • สร้างคนในทีมที่มีทักษะการฟังที่ดี, การสื่อสารที่ดี, มีความกล้าแสดงออก, และเป็นคนโอบอ้อมอารี
  • สร้างคนในทีมที่เข้าใจโปรเจกต์ เมเนจเม้นต์โดยไม่ต้องมีโปรเจกต์ เมเนเจอร์
  • สร้างคนในทีมที่มีความเข้าใจธุรกิจ อุตสาหกรรม ตลาด ลูกค้า และที่สำคัญเข้าใจเป้าหมายของชีวิตตัวเอง
  • สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและเอื้ออำนวยต่อความก้าวหน้า (ถึงแม้ว่านั่นจะแปลว่าพวกเขาจะไม่ต้องการคนอย่างเราก็ตาม)
  • สร้างกระบวนการทำงานที่ยึดโยงกับความจริงมากกว่าแผนที่วางไว้ กระบวนการที่กล้าทดลอง กล้าผิดพลาด และเปิดรับโอกาสที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นอย่างทันการ

หลายครั้งโปรเจกต์ เมเนเจอร์ถูกดึงเข้ามาร่วมทีมด้วยเหตุผลที่ผิด ด้วยความเข้าใจที่ผิดว่า “เมื่อมีปัญหา ก็โยนคนคนนี้ลงมาแล้วจะช่วยให้ปัญหาทั้งหมดหายไป” มันเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพที่ผิดทิศไปนิดนึง

ทักษะและสิ่งที่โปรเจกต์ เมเนเจอร์ต้องมี, ต้องศึกษา, และต้องลงมือทำนั้นยังจำเป็นอยู่ แต่มันคือแค่ก้าวแรกในสายงานนี้ ไม่ใช่จุดจบของการเรียนรู้และวิวัฒนาการไปของคนหนึ่งคน

หนึ่งปีฝึกฝน อีกหนึ่งปีทำให้เชี่ยวชาญ หลังจากนั้นล่ะ? ไม่ เราไม่ควรทำแบบเดิมด้วยแนวคิดแบบเดิม เราต้องมองให้ใหญ่กว่านั้น เราต้องสร้างสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าเดิมในทุกๆวัน เราต้องพยายามเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าเราเป็นใครและต้องการอะไร

เมื่อเรามองเห็นภาพชัดเจนแล้ว เราจะรู้ในทันทีว่าสภาพแวดล้อมที่เรายืนอยู่ตอนนี้มันใช่ตัวเราเองหรือไม่ ความสับสนที่เกิดขึ้นและสะสมมานานจะเริ่มคลายตัวออก ทางเลือกจะเริ่มกระจ่างชัด

  • ฉันพยายามสร้างแต่คนที่นี่ไม่รับไอเดียใหม่ๆ
  • ฉันพยายามช่วยด้วยการให้ความรู้แต่คนที่นี่สนใจแค่ว่าฉันต้องทำงานจับฉ่ายอย่างไม่มีโอกาสปฏิเสธ
  • ฉันรู้แล้วว่าฉันบกพร่องเรื่องการเป็นผู้นำ และฉันควรฝึกฝนเพิ่มเติม
  • ฉันรู้แล้วว่าฉันมีปัญหากับการทำงานกับคนหลายส่วน และฉันไม่ชอบเรื่องการเมืองไร้สาระ … ฉันคิดว่างานนี้คงไม่เหมาะกับฉันซะแล้ว

ถ้านี่คืออดีตของเราและตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้นแล้ว เราไม่ใช่โปรเจกต์ เมเนเจอร์แล้วแต่เราก็สามารถจะสร้างอะไรหลายๆอย่างได้ต่อไป

เราไม่ใช่โปรเจกต์ เมเนเจอร์แต่เราไม่เคยลืมความรู้และทักษะที่เคยฝึกฝนไว้ในตอนนั้น

เราไม่ใช่โปรเจกต์ เมเนเจอร์แล้วแต่เรารู้สึกว่าตัวเองเข้าใจความหมายของคำนี้มากกว่าตอนนั้นมากนัก

ทั้งหมดนี้เพราะเราไม่เคยสูญเสียความเป็นตัวเองไป มันเป็นสมบัติที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนควรต้องพิทักษ์ไว้อย่างสุดกำลัง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *