🦋 ความคิดสร้างสรรค์กับการคาดการณ์

ความคิดสร้างสรรค์กำหนดช่วงเวลาไม่ได้

ความคิดสร้างสรรค์ต้องมีการลองผิดมากกว่าลองถูก

ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องจำเป็นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่ซับซ้อน

ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการทำงานคนเดียวมากกว่าการทำงานพร้อมกันหลายคน

และความคิดสร้างสรรค์กับการคาดคะเนได้นั้นอยู่คนละขั้วเสมอ ถ้าเราอยากได้ความถูกต้องแม่นยำเราต้องยอมเสียสละความคิดสร้างสรรค์ไป

ทุกวันนี้กระบวนการทำงานของเราเน้นหนักไปด้านไหน? เราเปิดช่องว่างให้ความคิดสร้างสรรค์หรือเราเน้นการควบคุมเข้มงวดเพื่อการคาดคะเนได้?

อะไจล์แบบใช้อักษรเอตัวเล็ก (agile) คือทางเลือกเพื่อความคิดสร้างสรรค์ มันแปลว่าความสามารถในการเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วและง่าย การตั้งเป้าหมาย การกำหนดเส้นทางการเดิน การเลือกลองผิดลองถูก การเปิดช่องว่างให้วิ่งซ้ายแล้วสลับมาขวาอย่างอิสระ นั่นคือสิ่งที่อะไจล์ด้วยอักษรเอตัวเล็กให้เราได้

งานพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะหน้าที่ของทีมพัฒนาคือการแก้ปัญหาและโดยทั่วไปแล้วหนึ่งปัญหามีทางออกหลายรูปแบบ มันคือความรับผิดชอบของเราที่ต้องแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยทางออกที่ดีที่สุดด้วยข้อจำกัดที่เรามี

บางครั้งทางออกนั้นง่ายและตรงไปตรงมา แค่ทำตามแพทเทิร์นเดิมๆก็ได้ แต่หลายครั้งปัญหานั้นซับซ้อนมากจนองค์ความรู้เดิมๆไม่สามารถหยิบมาใช้แบบสำเร็จรูปได้ทันที … นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เราต้องการความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่สามารถบังคับได้ ไม่สามารถคาดคะเนได้

อะไจล์แบบอักษรเอตัวใหญ่ (Agile) คือทางเลือกเพื่อการควบคุมและการคาดคะเนได้ การกำหนดรายละเอียดของงานอย่างชัดเจนและลึกซึ้ง การกำหนดระยะเวลาที่ต้องใช้ในการทำงานแต่ละงานอย่างเข้มงวด การกำหนดปริมาณงานที่ต้องทำอย่างชัดเจน … แนวทางปฏิบัติที่ถูกใช้เพื่อการควบคุมมากกว่าการเอื้ออำนวยต่อความคิดสร้างสรรค์

มันขึ้นอยู่กับบริบท บางครั้งเราอยากได้การควบคุม อะไจล์แบบอักษรเอตัวใหญ่อาจจะเป็นทางเลือกที่ใช่สำหรับเรา แต่เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการความคิดสร้างสรรค์ล่ะ?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *