โดยทีมงานนวัตกรรม
หลายธุรกิจที่พยายามหานวัตกรรมด้วยการตั้งหน่วยงานนวัตกรรม บางทีมันอาจจะเป็นความคาดหวังที่มากเกินจริงไปสักหน่อย
ถ้านวัตกรรมที่พวกเขาอยากเห็น … ไม่ใช่เรื่องหลักหรือความถนัดของธุรกิจนั้นๆมาตั้งแต่ต้น เช่น โรงเรียนอยากมีแอปเป็นของตัวเอง โรงพยาบาลอยากได้ฮาร์ดแวร์เป็นของตัวเอง
ทำได้มั้ย? … ได้อยู่แล้ว
แต่ทำแล้วออกมาดีที่สุดมั้ย? … ยาก ยากมากเพราะมันไม่ใช่องค์ความรู้ที่อยู่ในดีเอ็นเอขององค์กรหรือธุรกิจเหล่านั้น
โรงเรียนถนัดสอนหนังสือ โรงพยาบาลรักษาคนป่วย อะไรแบบนี้
หน่วยงานนวัตกรรมตามนิยามที่ควรจะเป็นคือหน่วยงานที่รู้หลายเรื่อง เห็นอะไรมาเยอะ มีเวลาทดลองและล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ … ธุรกิจเหล่านั้นรอได้มั้ย?
ถ้าหน่วยงานนวัตกรรมส่วนใหญ่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างของคนในองค์กรเอง คำถามคือทำได้มั้ย? ทำได้อยู่แล้วเพราะปัญหาอยู่ตรงหน้า ข้อมูลก็หาได้จากหน้างาน แต่สิ่งที่ขาดไปคือคำว่านวัตกรรมนั่นแหละ เพราะการเห็นแค่ตัวอย่างเดียว จากมุมมองเดียวมันยากมากที่จะหาวิธีการแก้ปัญหาในรูปแบบของนวัตกรรม
เพราะความรู้และประสบการณ์ที่จำกัดเพราะสถานการณ์ที่จำกัด … ผลงานนวัตกรรมของทีมนวัตกรรมอาจจะตอบโจทย์ผู้ใช้อย่างดีแต่มันมักจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด ผลงานจากทีมนวัตกรรมแก้ปัญหาได้ 50% แต่มีระบบอื่นที่เกิดจากแนวคิดอื่นที่แก้ปัญหาได้ 95% เป็นต้น
หน่วยงานนวัตกรรมมาพร้อมต้นทุน ทีมงาน อุปกรณ์ เวลาที่ต้องเสียไป … ผลลัพธ์ 50% นั้นคุ้มค่าหรือไม่ เทียบระหว่างทำเองกับการซื้อใช้อะไรจะคุ้มค่ากว่ากัน?
การซื้อใช้คือเราเลือกซื้อจากคนที่เห็นปัญหาเดียวกันนี้มากกว่าเรา คนที่เชี่ยวชาญและทำมาหากินอยู่กับเรื่องนั้นๆ คนที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันกับความสำเร็จของสิ่งที่พวกเขาทำ … คนที่ทำธุรกิจเรื่องนั้นโดยตรง
บางทีเรามองว่า “ไม่เป็นไร เรื่องแค่นี้เราทำเองได้” ก็ใช่ ไม่ผิด แต่ระยะยาวแล้วมันไม่คุ้มค่าหรอกที่เราต้องทำเอง ผิดเอง เจ็บเอง ก่อนที่สุดท้ายก็ต้องมาหาซื้อของคนอื่นไปใช้อยู่ดี
หน่วยงานนวัตกรรมควรมาพร้อมเป้าหมายที่เป็นไปได้มากกว่านี้หน่อย เป้าหมายที่ว่าค้นหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ในทุกวิถีทาง … และไม่จำเป็นต้องลงมือทำอะไรที่ไม่ถนัดด้วยตัวเอง