ขนาดและรูปร่างของเส้นโค้ง(เคิร์ฟ)มีผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจด้านเทคโนโลยี
เส้นโค้งของการยอมรับในสิ่งใหม่ของคนในสังคมนั้นๆ จากการศึกษาทางสถิติบอกเราว่าในทุกๆพื้นที่และทุกๆตลาดเราแบ่งคนได้เป็นห้ากลุ่มดังนี้
- ผู้ประดิษฐ์คิดค้น (Innovators) โดยเฉลี่ย 2.5%
- ผู้กระหายในเทคโนโลยี (Early Adopters) โดยเฉลี่ย 13.5%
- ผู้ใช้กลุ่มแรก (Early Majority) โดยเฉลี่ย 34%
- ผู้ใช้กลุ่มหลัง (Late Majority) โดยเฉลี่ย 34% และ
- ผู้ต่อต้าน (Laggards) โดยเฉลี่ย 16%
ในกลุ่มคน 100 คนจะมีคนที่พร้อมลุยและลองกับของใหม่อยู่ที่ 16 คน … คนกลุ่มนี้เป็นตัวแทนการชี้วัดความก้าวหน้าของสังคมได้พอสมควร เพราะนวัตกรรมคือความเสี่ยง เพราะการพัฒนาคือการกล้าทดลอง ยิ่งมีคนกล้ามากเท่าไรโอกาสแห่งการพัฒนาก็มีมากขึ้นเท่านั้น ประเทศชั้นนำของโลกมีคนกลุ่มนี้อยู่เยอะ พวกเขาจึงก้าวหน้าและก้าวไกล
ในสังคมที่มีคนกลุ่มนี้น้อย ความเจริญก้าวหน้าจึงเกิดยากกว่าสังคมอื่น เพราะแนวคิดใหม่ แนวคิดเพื่ออนาคตมักกลายเป็นหมันเมื่อโดนประเมินด้วยคำถามแรกเรื่องราคาและตามมาด้วยฐานลูกค้าอ้างอิง
- ราคาเท่าไร? โห แพงไปนะ
- คุณเคยทำให้ใครมาก่อนรึยัง? แค่รายเดียวเองหรอ? เอ่อออ อืมมม
ทำไมบริษัทเกิดใหม่หลายรายล้มเหลวทั้งที่มีทีมงานและโปรดักท์ที่ดี … สาเหตุหลักมาจากสภาพตลาด สภาพตลาดที่มีคนกล้าเสี่ยงน้อยเกินไป สภาพตลาดที่เต็มไปด้วยผู้บริโภคแบบเต็มคราบนั่นคือบริโภคและใช้อย่างเดียวโดยไม่เคยคิดจะสร้างหรือพัฒนาอะไรขึ้นมาด้วยตัวเอง มันคือปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่มีมานานและจะมีอยู่ต่อไปอีกนาน
ผลกระทบก็จะมีกับผู้ผลิตที่พยายามนำเสนออะไรใหม่ๆให้กับสังคม งานจะยากขึ้นเป็นเท่าตัว … บางครั้งบางคนก็ยอมแพ้และมองหาโอกาสใหม่ในตลาดอื่นซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือเรื่องน่าอาย มันคือแนวทางเอาตัวรอด มันคือการปรับตัวด้วยความเข้าใจว่าไม่มีใครเอาชนะพลังอำนาจของตลาดผู้ซื้อได้