🐟 ยกแผง

“พี่อยากได้เดฟเพิ่มอีกคนหวะ พอจะรู้จักใครเก่งๆบ้างมั้ย?” — ถ้ามีคนเดินมาขอให้เราช่วยเรื่องนี้ เราควรทำอย่างไร?

สิ่งที่แล่นเข้ามาในสมองอย่างแรกคืออะไร? แน่นอนว่ามันคือการนึกถึงกลุ่มเพื่อนที่สนิทไว้ใจได้ ใครบ้างที่เหมาะสม ใครบ้างที่เราอยากจะชวนเข้ามาร่วมงานกัน ถ้ามีเราก็เริ่มดำเนินการติดต่อสอบถาม ถ้าไม่มีก็ตอบกลับไปว่าไม่มีและจบเรื่องนี้ไป

“เฮ้ย ทีมเราหาสมาชิกเพิ่มหนึ่งคนหวะ เราว่าแกเหมาะสมมากเลย สนใจมาคุยกันมั้ย?” — เราคงต้องเลือกถามเพื่อนคนแรกที่อยู่อันดับหนึ่งในลิสต์รายชื่อ

เพื่อนเราในฐานะคนถูกติดต่อทาบทามจะคิดอย่างไร? ตัวเลือกแรกคือไม่สนใจเพราะยังแฮปปี้กับงานที่ทำอยู่แบบสุดขีด ตัวเลือกที่สองลองพูดคุยดูก่อนก็ไม่เสียหาย หรือสามตกลงทันทีเพราะสาเหตุบางประการ

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมเต็มรูปแบบ สิ่งที่ทำให้พวกเราดำรงชีวิตมาได้ยาวนานตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาตินั้นคือความเชื่อใจ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม … มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่เมื่อเราต้องการความช่วยเหลือ (ในกรณีนี้คือต้องการสมาชิกใหม่ในทีม) เราจึงนึกถึงคนที่รู้จักคุ้นเคยและไว้ใจก่อนเป็นกลุ่มแรก และมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่เราจะหวั่นไหวได้ง่ายเมื่อถูกเชื้อเชิญโดยคนที่เราสนิทและเคยใช้ชีวิตในสังคมแบบเดียวกันมาก่อน

เพื่อนที่เคยทำงานทีมเดียวกันกับคนแปลกหน้าที่ส่งใบสมัครผ่านเวปเข้ามา … เลือกคุยกับใครก่อน?

แต่เมื่อองค์กรของคนที่เราเอ่ยปากชวนให้ย้ายงานเริ่มรู้ตัวว่ากำลังจะเสียพนักงานไปให้กับคู่แข่ง พวกเขาจะเกิดความกังวล พนักงานคนนี้อาจจะเป็นกำลังสำคัญในทีม กำลังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบสูงในงานหรืออะไรก็ตามแต่

พวกเขากำลังรู้สึกว่า “โดนกวาด” — สมาชิกถูกดูดไปทีละคนสองคน นี่เป็นเรื่องซีเรียสแน่นอน และปฏิกิริยาที่ตามมาขององค์กรนี้เป็นเรื่องน่าสนใจ บางคนเลือกที่จะเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผิด การชักชวนเพื่อนเก่าไปสร้างทีมใหม่ที่บริษัทใหม่เป็นเรื่องต้องห้าม … พวกเขาอาจจะเลือกโทษคนนอกเพราะมาชักชวนและดึงคนของเขาไป

เมื่อทุกคนมีสิทธิ์คุยกับทุกคน เมื่อทุกคนมีสิทธิ์คิดและตัดสินใจด้วยตัวเองตราบใดที่ไม่ขัดกับกฎหมาย ในเมื่อการตัดสินใจปฏิเสธหรือตอบรับคำชวนของใครสักคนนั้นเป็นอำนาจตัดสินใจของเจ้าตัวแบบ 100% … คำว่า “ดึงคน” หรือ “กวาดทีม” จึงไม่มีอยู่จริง

ว่ากันว่า “พนักงานไม่ได้ลาออกเพื่อหนีงานแต่ลาออกเพื่อหนีหัวหน้างาน” — เป็นคำกล่าวที่ชัดเจนทีเดียว และถ้าพวกเขาเลือกจะหนีหัวหน้างานมันก็ไม่ใช่ความผิดของคนชักชวนเลยแม้แต่นิดเดียว

แทนที่จะพินิจพิจารณาว่าทำไมสมาชิกในทีมของเขาจึงหวั่นไหวไปกับคำเชิญของคนนอก อะไรที่ทำให้พวกเขาไม่มีความสุข อะไรที่ผิดพลาดและอะไรที่สมควรต้องถูกปรับปรุงเป็นการภายใน … พวกเขากลับมองว่านี่คือความผิดของคนนอกเป็นความผิดของสภาพแวดล้อมภายนอก พวกเขาเลือกที่จะโยนความผิดไปให้คนอื่นเพื่อกลบเกลื่อนความผิดของตัวเอง

เพราะเหตุนี้เราจึงไม่แปลกใจเลยถ้ามาตรฐานวัวหายล้อมคอกของคนกลุ่มนี้จะล้มเหลวและปัญหาสมองไหลจะคงอยู่ต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *